วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

ภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลป่าแลวหลวง


ข้อมูลแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
แหล่งการเรียนรู้ ด้านภูมิปัญญาชาวบ้านการสู่ขวัญ
ความรู้ด้านประเพณี วัฒนธรรม  ความเชื่อพื้นบ้าน
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น   พ่ออาจารย์ถา    พรมคำ     

อายุ   75   ปี  วุฒิการศึกษาจบชั้น  .4  อาชีพ 
สถานที่ตั้ง    
อยู่บ้านเลขที่  22     หมู่ที่ 3   ตำบลป่าแลวหลว    อำเภอสันติสุข  
จังหวัดน่าน  55210 หมายเลขโทรศัพท์  -
วัน เวลา ที่ให้บริการ
            ทุกวันตามที่ทางเจ้าภาพกำหนดจัดพิธี โดยมีการหาฤกษ์ในการประกอบพิธีตามความเชื่อของชาวล้านนาโดยยึดเอาวันดีตามหนังสือปี๋ใหม่เมืองเป็นวันประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวล้านนา
ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม / รับบริการ
            -  ค่าตอบแทน ซึ่งก็แล้วแต่ศรัทธา
ผู้รับผิดชอบ     พ่ออาจารย์ถา   พรมคำ  
ประวัติความเป็นมา
มีความรู้ความความสามารถพิเศษเกี่ยวกับ หมอสู่ขวัญ   ขณะบวชเรียนได้ศึกษาถึงพระธรรมคำสอนตามหลักพระไตรปิฎก ขณะเดียวกันก็ได้มีการเรียนเกี่ยวกับภาษาล้านนา (ตัวอักษรพื้นเมือง)ไปด้วย ซึ่งบวชได้เป็นเวลา 8 ปีก็ลาสิกขาออกมา หลังจากลาสิกขาออกมาก็ได้ไปศึกษาตำราเกี่ยวกับการสู่ขวัญ พิธีกรรมต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อนำมาใช้ในการรักษาทางจิตและทางกายคนป่วยกับพ่ออาจารย์ท่านหนึ่ง
กิจกรรมที่ให้บริการ /ความรู้ /องค์ความรู้ /ความชำนาญ/สิ่งที่น่าศึกษาเรียนรู้
          1.การสู่ขวัญ
            2.การสะเดาะเคราะห์
            3.การดูฤกษ์ สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ
            4.การศึกษาอักษรล้านนา(ตั๋วเมือง)
          5.การเป่าเพื่อรักษาโรค
ประเพณีสู่ขวัญ สู่ขวัน หรือ สู่ขวัญ
               หมายถึงพิธีเลี้ยงอาหารแก่ขวัญ ซึ่งการสู่ขวันของชาวล้านนา คือพิธีกรรมที่ตรงกับการเรียกขวัญของคนในไทยภาคกลาง และมีข้อปลีกย่อยทีต่างกันไม่มากนัก การสู่ขวันนี้อาจเรียกว่า สู่เข้าเอาขวัน เรียกขวัน ( อ่าน เฮียกขวัน ”) หรือ ร้องขวัน ( อ่าน ฮ้อง ขวัน คือป้อนอาหารเพื่อเชิญขวัญให้คืนสู่ตนตัวของบุคคลซึ่งป่วยเรื้อรังมีเหตุเสียใจหรือหมดกำลังใจอย่างรุนแรง หรือเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ใหม่ โดยกล่าวกันว่าขวัญของบุคคลดังกล่าวได้เตลิดไปจากตัวตน จึงต้องทำพิธีเรียกและปลอบประโลมขวัญนั้นให้กลับคืนสู่บุคคลตามเดิม เรื่องการสู่ขวัน เป็นประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันในล้านนาซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ลงตัว ในที่นี้ใคร่จะเชิญบทนิพนธ์ของพลตรีเจ้าราชบุตร ( วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่ ) ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ เจ้าหลวงเชียงใหม่ โดยเจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่และคณะมาลงไว้ เพื่อให้เห็นขั้นตอนต่างๆ เต็มตามต้นฉบับดังนี้ การสู่ขวัญหรือสู่พระขวันหรือสู่พระขวัญเป็นประเพณีของชาวล้านนาไทยมาแต่โบราณกาล ทางภาคกลางนิยมเรียกว่า การรับขวัญคนที่เดินทางไกลไปต่างถิ่นเป็นเวลานาน บางทีก็ประสบความเหนื่อยยากในการเดินทาง มีความคิดถึงบ้าน หรือต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจและเสียขวัญ เมื่อกลับมาถึงบ้านเรืองของตนแล้ว ก็นิยมเอาธูปเทียน ดอกไม้ไปบูชากราบไหว้พระสงฆ์และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ มีบิดามารดา เป็นต้น เพื่อขอให้ท่านซึ่งมีวัยวุฒิเหล่านั้น เรียกขวัญและปลอบอกปลอบใจให้ขวัญกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวต่อไป อย่าได้ไถลไปที่อื่น คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเวลานานหรือป่วยหนักจนกำลังลดถอยลง มักจะขอให้พระหรือคนเฒ่าคนแก่ทำพิธีผูกมือเรียกขวัญ ในการนี้ท่านจะกล่าวถ้อยคำอันเป็นสิริมงคลเรียกขวัญแล้วอำนวยพรให้พ้นภัยพิบัติอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป การกล่าวคำเรียกขวัญนี้ บางทีท่านก็กล่าวเป็นคำประพันธ์และอาจเป็นทำนองที่มีไพเราะด้วย การเรียกขวัญหรือสู่ขวัญเช่นนี้ได้ทำกันแพร่หลายภายหลังได้ขยายการทำดอกไม้บูชาเป็นพุ่มงดงามเรียกว่าบายศรีประกอบด้วยเครื่องเซ่นไหว้เพิ่มเติมขึ้นอีก โดยเฉพาะในการต้องรับคนต่างถิ่นหรือผู้มีเกียรติที่มาเยี่ยมเยือน ถ้าเป็นงานต้อนรับขนาดใหญ่มากนักจะมีขบวนแห่ด้วยประวัติการทำบายศรีทูลพระขวัญและสู่ขวัญของจังหวัดเชียงใหม่นั้นได้ทำกันมานานแล้ว เท่าที่พอจะหาหลักฐานได้นั้น มีมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าราชการผู้ใหญ่ที่เดินทางมาราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังเคยได้บันทึกไว้ว่า เฉพาะแต่การต้อนรับสู่ขวัญและพาชมเมืองก็หมดวันเสียแล้ว ในระยะต่อมาพิธีทูลพระขวัญที่ควรจะได้กล่าวถึง และเป็นประวัติการของจังหวัดเชียงใหม่ คือพิธีทูลพระขวัญถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระราชวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๙


การสู่ขวัญ มีด้วยกัน 7 ประเภท  คือ
               1.  สู่ขวัญคนเฒ่าคนแก่  2. สู่ขวัญคนที่ป่วยไข้  3. สู่ขวัญคนเพื่อให้เป็นสิริมงคล  4. สู่ขวัญนาค  5. สู่ขวัญคู่บ่าวสาวในโอกาสแต่ง -งานใหม่  6. สู่ขวัญข้าวใหม่  7.  สู่ขวัญวัว,ควาย ฯลฯ   การทำพิธีสู่ขวัญคนเฒ่าคนแก่ ที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นมงคล  นิยมจัดหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะในวันพญาวัน วันปีใหม่เมือง (15 เมษายน)
          การทำพิธีสู่ขวัญให้คนที่อยู่ไม่สบาย หรือเจ็บป่วยต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้ที่ป่วยมีขวัญและ กำลังใจสามารถต่อต้านโรคต่าง ๆ ได้
          การทำพิธีสู่ขวัญให้คนธรรมดา คือจัดให้คนที่เดินทางไปทำงานยังต่างจังหวัด แล้วกลับมาอยู่บ้าน หรือกำลังจะเดินทางไปทำงานหาเงิน หรือบุคคลที่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน เพื่อเป็นกำลังใจ
ต่อไป ถือเป็นสิ่งมงคลในชีวิตอีกวิธีการหนึ่งด้วย
          การทำพิธีสู่ขวัญนาค คือ สู่ให้ลูกหลานที่จะเข้าไปศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ทางภาษาล้านนา และศึกษาทางโลก แล้วเข้าทำพิธีบรรพชา อุปสมบท ก่อนที่จะเข้าพิธีทางพระสงฆ์ ภาคเหนือนิยมกัน
โกนหัว นุ่งห่มสีขาว ถือว่าเป็นนาค แล้วต้องมีพิธีการสู่ขวัญ ก่อนพิธีบรรพชา อุปสมบท ได้ถือสืบทอดกันมาแต่โบราณกาล
           การทำพิธีสู่ขวัญให้แก่คู่บ่าว สาว ก่อนที่จะเข้าสู่พิธีแต่งงาน เพราะนิยมสืบ ๆ กันมา คือคู่บ่าวสาวที่มีความรักใคร่ชอบพอกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือที่เคารพนับถือ ทั้งสองฝ่าย เห็นพร้อมต้องตามแล้ว ทางคู่บ่าว สาว จะพากันไปจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย เสร็จแล้วฝ่ายพ่อแม่พี่น้องทั้งสองฝ่าย จะหาฤกษ์งามยามดี ได้วันดีแล้ว เมื่อถึงวันกำหนด จะมีการกระทำพิธีสู่ขวัญให้ตามประเพณี  เพื่อให้เป็นมงคลแก่คู่บ่าว สาว
      การสู่ขวัญข้าว มี 3 ขั้นตอน เอาแต่จะสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติ  บ้างจะสู่ตอนพิธีแฮกนาปลูกข้าว หรือตอน
ตีข้าว หรือนวดข้าว และตอนนำข้าวมาสู่ยุ้งฉางเสร็จแล้ว ตามแต่จะสะดวก ของเจ้าของข้าว
          การสู่ขวัญวัว ควาย มักนิยมสู่ขวัญ หลังจากเสร็จจากการทำนา จะทำพิธีสู่ขวัญให้แก่ควายที่ใช้
ไถนา หรือสู่ขวัญวัว ที่ใช้เทียมเกียวน เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณที่ได้ใช้แรงของสัตว์เลี้ยง
          ประเพณีตานธรรมมหาวิบาก  - ตานธรรมพระพิมลแก้ว ตานกั๋ม ตานข้าวสังค์ดิบ  สวดข้าวพระเมืองแก้ว  ฯลฯ
          ประเพณีทั้ง ประเภท นี้มักนิยมทำ ให้แก่ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือใกล้จะตายแต่ไม่ตาย ทนทุกข์ทรมานมานาน จะมีการทำพิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง ใน 5 ประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  เมื่อทำจัดทำพิธีกาลดังกล่าวแล้ว  ถ้ากรรมตายมาถึงผู้นั้นก็จะตายไปในที่สุด ถ้ากรรมตายยังมาไม่ถึง อาการต่าง ๆ ก็จะเริ่มดีวันดีคืนและหายไปในที่สุด

การสู่ขวัญบุคคลธรรมดา  (คนป่วย)
-   ประวัติความเป็นมา
          ขณะที่ป่วยคนเราถือได้ว่าสภาพทางจิตใจนั้นแย่มากๆ อีกทั้งสุขภาพร่างกายก็ดูทรุดโทรมตามไปด้วย เนื่องจากว่ามีแต่ความวิตกกังวลว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร จะหายป่วยหรือไม่  จะหายเมื่อไหร่ ถ้าหายแล้วร่างกายจะสมบูรณ์แข็งแรงเหมือนเดิมไหม เป็นต้น ซึ่งการวิตกกังวลเหล่านี้ก็เหมือนกับยิ่งทำให้จิตใจว้าวุ่นเพิ่มความเครียดให้กับตัวเองหนักเข้าไปอีก
            ดังนั้นในอดีตจึงมีกุศโลบายในการรักษาคนป่วยโดยผ่านพิธีกรรมการสู่ขวัญซึ่งเป็นการเรียกขวัญคนป่วยให้กลับมาอยู่กับเจ้าของ  การปัดเคราะห์ซึ่งเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าเอาความชั่วร้ายสิ่งที่ไม่ดีออกไปให้พ้นจากร่างกาย ถ้าหากว่าคนป่วยคนไหนที่ได้กระทำตามพิธีกรรมนี้แล้วก็จะหายป่วย ร่างกายก็จะกลับมาสมบูรณ์แข็งแรงเหมือนเดิม
            ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์แล้วก็เป็นการรักษาทางด้านจิตใจนั่นเอง คือ เป็นการเพิ่มกำลังใจให้คนป่วยรู้สึกดีขึ้น รู้สึกมีพลังในการต่อสู้
-   วิธีดำเนินการ
            มีขั้นตอนโดยการเตรียมเครื่องสู่ขวัญ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้  ขันเงิน/ข้าวต้ม/ขนม/เทียน/น้ำดื่ม/เสื้อผ้าผู้ป่วย/ไก่ต้ม/ดอกไม้/น้ำส้มป่อย/สุรา/กระจก/หวี/เครื่องประดับ/ด้ายมัดแขน/กล้วย/หมาก/พลู/บุหรี่/เมี้ยง เป็นต้น
            หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์เสร็จก็จะประกอบพิธีกรรมตามขั้นตอนต่อไปนี้
            - ปัดเคราะห์ให้คนป่วย
            -  เรียกขวัญ
            -  ป้อนข้าว
            -  ป้อนน้ำ
            -  สุรา
            -  มัดแขน   * คำสู่ขวัญแต่ละพิธีกรรมก็จะแตกต่างกันออกไป
ผลการดำเนินงาน/ผลรับ/ผลผลิต/ผลสำเร็จ
            -  ช่วยให้ชาวบ้านมีความเชื่อ มีความศรัทธา เป็นที่น่ายอมรับ
            -  เป็นที่รู้จักของหมู่บ้านอื่น
            -  สามารถทำให้ผู้ป่วยนั้นมีความรู้สึกที่ดีขึ้น มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับความเจ็บป่วยได้ ทำให้ผู้ป่วยหายจากการป่วยได้เร็วขึ้น

การสู่ขวัญบุคคลผู้ใหญ่
 -  ประวัติความเป็นมา
          เนื่องจากการสู่ขวัญบุคคลชั้นผู้ใหญ่นั้นไม่ได้เป็นการสู่ขวัญ เพราะเกิดการเจ็บป่วยแต่อย่างใด  แต่เป็นการสู่ขวัญเพื่อเสริมสร้างอำนาจบารมีให้แข็งแกร่ง ให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์  ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการดำเนินชีวิตทั้งด้านหน้าที่การงาน ครอบครัวให้เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีอุปสรรคขัดขวางทั้งในปัจจุบันและอนาคต และเพื่อส่งผลบุญให้บุคคลผู้นั้นประสบความสำเร็จในชีวิตทุกๆด้าน ต่อไป


-   วิธีดำเนินการ
            มีขั้นตอนโดยการเตรียมเครื่องสู่ขวัญ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้  เครื่องบายศรี/หัวหมู/ขันเงิน/ข้าวต้ม/ขนม/เทียน/น้ำดื่ม/เสื้อผ้าผู้ป่วย/ไก่ต้ม/ดอกไม้/น้ำส้มป่อย/สุรา/กระจก/หวี/เครื่องประดับ/ด้ายมัดแขน/กล้วย/หมาก/พลู/บุหรี่/เมี้ยง เป็นต้น
            หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์เสร็จก็จะประกอบพิธีกรรมตามขั้นตอนต่อไปนี้
            - ปัดเคราะห์
            -  เรียกขวัญ
            -  ป้อนข้าว
            -  ป้อนน้ำ
            -  ป้อนสุรา
            -  มัดแขน
* คำสู่ขวัญแต่ละพิธีกรรมก็จะแตกต่างกันออกไป
ตัวอย่างคำสู่ขวัญ
            “เขาก็มาเย็บบายศรี เวียนแวด(ล้อม)ใหญ่น้อย ถอดถึงปลายประดับหยาย(เฉลี่ย)ตั้งมั่น มีหลายจั้น(ชั้น)แกนดูงาม เทียนตามและหางนาค ”  เป็นต้น
การสู่ขวัญงานมงคลสมรส
-   ประวัติความเป็นมา
          การจัดงานแต่งงานให้คู่บ่าวสาวสำหรับประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณนั้นไม่ได้มีประเพณีที่เอิกเกริกเฮฮาเหมือนสมัยนี้เพียงแต่ตามประเพณีคือหาวันดีได้ก็เชิญผู้เฒ่าผู้แก่และญาติทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อถึงวันกำหนดแล้วมารวมกันที่บ้านเจ้าสาว มาพร้อมแล้วและเมื่อถึงเวลาฤกษ์  เฒ่าแก่ฝ่ายเจ้าสาวประมาณ 5 คน  ขึ้นไปถือขันดอกไม้เทียน ถือว่าเป็นการไปขอเจ้าบ่าวมาเข้าพิธีแต่งงานสู่ขวัญ  เพื่อให้เป็นผัวเมียกันถูกต้องตามประเพณี เป็นทางการและเป็นมงคลแก่คู่บ่าวสาวด้วย เมื่อเฒ่าแก่ทำพิธีทุกอย่างเสร็จให้พรเสร็จแล้วการต้อนรับแขกด้วยอาหารก็ใช้ไก่ต้มที่เอาสู่ขวัญนั้นมาปรุงเป็นอาหารรับต้อนแขกก็เป็นที่เรียบร้อย  ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
-    วิธีดำเนินการ
            การจัดงานแต่งงานสู่ขวัญให้คู่บ่าวสาว  สมัยนี้เมื่อหาวันดีรู้แล้วว่าตรงกับวันไหน วันที่เท่าไร  เมื่อรู้ดีแล้วฝ่ายเจ้าบ่าวก็จัดการพิมพ์การ์ด พิมพ์บัตรเชิญ เชิญท่านผู้มีเกียรติ เชิญเพื่อนฝูง เมื่อใกล้วันแต่ง  ก็เอาการ์ด เอาบัตรออกไปเชิญผู้ที่จะมาร่วมงาน ส่วนญาติๆ และคนเฒ่าคนแก่ต้องมีคนหนุ่มฝ่ายเจ้าบ่าว   1 คน ฝ่ายเจ้าสาว 1 คนไปด้วยกัน เมื่อเชิญครบแล้ว ใกล้ๆวันแต่งพี่ป้าน้าอาทั้งหลายก็จะไปบ้านเจ้าสาวไปบ้านเจ้าบ่าว ไปช่วยกันแต่งขันบายศรี (ขันสู่ขวัญ-พาขวัญ) ทั้งบ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาว คนที่ยังหนุ่มรวมทั้งพ่อบ้าน เพื่อนฝูงก็ช่วยกันจัดเตรียมของใช้ เช่นถ้วย ช้อน ขันน้ำ ขวดน้ำ เครื่องครัวทำอาหาร ทุกอย่างจนครบ เมื่อถึงวันแต่งงานมาแล้ว บ้านเจ้าบ่าว บ้านเจ้าสาวต่างคนก็ต่างเตรียมให้พร้อมได้เวลาแล้วญาติฝ่ายเจ้าสาวประมาณสัก 5 คนขึ้นไปเตรียมเอาขันดอกไม้ เทียนและของที่ระลึกไปบ้านเจ้าบ่าว เอาขันนั้นขอกับพ่อแม่เจ้าบ่าว ขอเอาเจ้าบ่าวไปเป็นเขย ส่วนพ่อแม่เจ้าบ่าวก็อนุญาตตามประเพณี เมื่อพร้อมแล้วหมู่เพื่อนฝูงของเจ้าบ่าว ก็จัดขบวนเป็นหมู่พร้อมเพรียงกับแห่ขันหมากจากบ้านเจ้าบ่าวไป  เมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาวแล้วหยุดอยู่หน้าบ้านแล้วเจ้าสาวพร้อมเพื่อนก็ลงมาจากบ้านถือฝ้ายสีขาว 1 เส้น และสุรา 2 ขวด มารับเอาเจ้าบ่าวถ้ามีการผ่านประตูเงินประตูทองก็ทำไปตามประเพณี  จากนั้นก็ขึ้นบ้านไปนั่งลงที่ขันพาขวัญตั้งอยู่ตรงกลางคนเฒ่าคนแก่ ญาติๆ ก็ทำพิธีตามประเพณีเรื่อยไป จบแล้วก็มีการเลี้ยงรับแขกต่อไป
มีขั้นตอนโดยการเตรียมเครื่องสู่ขวัญ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้  บายศรี/ขันเงิน/ข้าวต้ม/ขนม/เทียน/น้ำดื่ม/เสื้อผ้าผู้ป่วย/ไก่ต้ม/ดอกไม้/น้ำส้มป่อย/สุรา/ด้ายมัดแขน/กล้วย/หมาก/พลู/บุหรี่/เมี้ยง เป็นต้น
            หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์เสร็จก็จะประกอบพิธีกรรมตามขั้นตอนต่อไปนี้
            - ปัดเคราะห์
            -  เรียกขวัญ
            -  ป้อนข้าว
            -  ป้อนน้ำ
            -  สุรา
            -  มัดแขน
* คำสู่ขวัญแต่ละพิธีกรรมก็จะแตกต่างกันออกไป



ตัวอย่างคำสู่ขวัญ
            “พี่น้อง 2 เบื้อง(ฝ่าย) มาหลั่งล้อมอ้อมจรรจา ตามกติกาแห่งเครือเจ้าตามกอง (เครือญาติฝ่ายผู้หญิง)ไป้(สะใภ้) กอง (เครือญาติฝ่ายชาย)เขย”  เป็นต้น

การสู่ขวัญข้าว
-  ประวัติความเป็นมา
เนื่องจากอดีตมีความเชื่อว่าถ้าหากมีการประกอบพิธีกรรมสู่ขวัญ/เรียกขวัญข้าวนั้นโดยการเลี้ยงด้วยไก่ต้ม เหล้า ยา ปลาปิ้ง ขนมคาวหวานต่างๆ หลังจากเสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเพื่อเป็นการบูชาพระแม่โพสพที่ได้ทำให้ผลผลิตนั้นได้ออกมาในปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้การบริโภค  รวมไปถึงเป็นการขอขมาที่ได้เหยียบย่ำขณะที่ทำการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งเมื่อถ้าหากในปีนี้เราได้ประกอบพิธีกรรมสู่ขวัญข้าวแล้วจะส่งผลให้เราได้ข้าวเยอะในปีต่อไปและยังคงจะทำให้กินข้าวไม่เปลืองอีกด้วย
-   วิธีดำเนินการ
            มีขั้นตอนโดยการเตรียมเครื่องสู่ขวัญ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้ หน่ออ้อย/หน่อกล้วย/ไหข้าว/หม้อนึ่ง/กล้วยหวี/อ้อยท่อน/ไม้เท้า/ไม้หนุน/ไม้ค้ำ/น้ำส้มป่อย/น้ำหอม/ดอกไม้/ผึ้ง/เทียน/ด้ายผูกยุ้งข้าว เป็นต้น
            หลังจากเตรียมอุปกรณ์ครบก็เข้าสู่พิธีการเรียกขวัญข้าวที่อยู่ตามทุ่งนา ป่า ที่ดอนต่างๆ ให้มาอยู่ในยุ้งข้าว ให้มากินข้าว กินปลา กินน้ำ กินเหล้า อาหารสำรับต่างๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ เมื่อเรียกขวัญเสร็จก็ทำการสู่ขวัญต่อไป โดยการตั้งนะโม 3 จบก่อน ต่อด้วยคำสูขวัญข้าว เมื่อสู่ขวัญเสร็จก็ต้องมีการมัดยุ้งข้าว/กระติ๊บข้าว/หม้อนึ่ง/ไหข้าว หรือภาชนะที่ใช้บรรจุข้าวต่างๆ
ตัวอย่างคำสู่ขวัญข้าวขึ้นต้นด้วย สลีสัสดีวันนี้หากก็เป็นวันดีฯ...(เนื้อหาคำสู่ขวัญจะเกี่ยวกับการเรียกขวัญข้าว





แหล่งการเรียนรู้วัดอภัยคีรี 
ด้าน  ศิลปะ วัฒนธรรม   ประเพณี  ความเชื่อข้อมูลพื้นฐาน 
 วัดอภัยคีรี   บ้านอภัยคีรี   เลขที่  57  หมู่  2 ตำบลป่าแลวหลวง  อำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน  55210
สถานที่ตั้ง
เลขที่  57  หมู่  2 ตำบลป่าแลวหลวง  อำเภอ
สันติสุข  จังหวัดน่าน  55210
วัน เวลา ที่ให้บริการ
            - ทุกวัน หากต้องการทำพิธีกรรมต่างๆ ให้
กำหนดวันตามฤกษ์ในการประกอบพิธีตามความเชื่อ
ของชาวล้านนาโดยยึดเอาวันดีตามหนังสือปี๋ใหม่เมืองเป็นวันประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวล้านนา
            - โรงเรียนพุทธศาสนาเปิดสอน ทุกวัน เวลา 17.00 น.- 18.00 น.
ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม / รับบริการ
-  ค่าใช้จ่ายตามจิตศรัทธาร่วมบริจาค
ผู้รับผิดชอบ     พระทองคำ  ตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะตำบลป่าแลวหลวง  
ประวัติความเป็นมา
ประวัติวัดอภัยคีรี ตั้งอยู่ เลขที่  57  หมู่  2 ตำบลป่าแลวหลวง  อำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน  55210  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2429  เดิม ชาวบ้านเรียกวัดป่าแลวม่อนที่ใช้คำว่าม่อน เพราะเป็นพื้นที่ภูเขาเตี้ยๆโล่งๆ มองเห็นแต่พื้นดินทรายขาวไม่มีต้นไม้ ชาวบ้านเรียกว่าม่อนหรือแผ่นดินล้านประชาชนส่วนใหญ่แยกย้ายมาจากบ้านป่าแลวจึงมีภาษาพูดเป็นภาษาลื้อ เหมือนกัน มีพระครูบาอินหวันเป็นเจ้าอาวาส รูปแรก ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านไสยศาสตร์ คาถาอาคม แกร่งกล้า
องค์ความรู้/สิ่งที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้
          1.ประเพณีการตานก๋วยสลาก/การแห่คัวตาน
            2.ประเพณีเลี้ยงผีวัด  ผีบ้าน
3.ประเพณีการสืบชาตา รดน้ำ  สะเดาะเคราะห์
4.การจัดสถานที่ให้ถูกหลักพิธีกรรมทางศาสนา
5.โรงเรียนสอนพุทธศาสนาในตอนเย็น
6.ปิดทองรูปเหมือน ครูบาอินหวัน  บูชาเหรียญ
-  ประเพณีตานก๋วยสลากออกพรรษาแล้ว ตามที่พระท่านบรรยายให้ฟังว่าการถวายตานก๋วยสลาก เมื่อสมัยโบราณโน้น เมื่ออกพรรษแล้ว เป็นต้นฤดูหนาว ผลไม้ต่างๆก็แก่สุกพอดี หมู่ชาวบ้านชาวสวนทุกครอบครัวก็มีการนึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา  ต่างคนก็ต่างเก็บเอาผลไม้ที่สุก แล้วเอาใส่ก๋วยหรือตะกร้ามารวมกันที่วัด แล้วทำพิธีถวายแด่พระภิกษุสมาเณร เพื่ออุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลไปหาผู้ที่ล่วงรับไปแล้ว  มีมารดา บิดา ปู่ย่า ตายาย พี่ป้าน้าอา  เป็นต้น เมื่อพระภิกษุสงฆ์ สามาเณรรับแล้ว ก็กรวดน้ำให้พรเป็นเสร็จพิธี ก็เป็นการตานก๋วยสลาก
**แต่ต่อมาถึงบัดนี้  ประเพณีการตานก๋วยสลกาสมัยนี้ ไม่เหมือนสมัยโบราณ สมัยนี้เป็นการจัดงานตานก๋วยสลากเพื่อหารายได้ การจัดงานตานก๋วยสลากสมัยนี้ จัด 2 วัน ในวันแรกเป็นวันห้างดาก๋วยสลาก  ก๋วยสลากสมัยนี้มี 3 อย่าง
-          สลากหน้อย(เล็ก)เรียกว่าสลากหน้อย
-          ก๋วยใหญ่เรียกว่าก๋วยสลากโจก
-          ก๋วยที่แต่งคล้ายปราสาท เรียกว่ากัณฑ์สลากสร้อย
กัณฑ์สลากทั้ง 3 อย่าง ต้องเอาใบตาลมาเขียนใบปล่อย เขียนคำอุทิศไปหาดวงวิญญาณคนนั้นคนนี้ 1 ก๋วยก็ 1ใบ 2 ก๋วยก็ 2 ใบ เรียกว่าใบสลาก ความกว้างของใบสลากประมาณกว้าง 2 นิ้ว ยาว 1 ศอก ทุกก๋วยต้องมีใบ ส่วนกัณฑ์สลากสลากสร้อยนั้นต้องมีใบเขียนคำค่าวปรารถนาองเจ้าของกัณฑ์สลากนั้น เนื้อความประมาณ 6หน้าหรือ 8 หน้าแผ่นกระดาษ อ่านเป็นคำค่าวจ้อยเมืองเหนือ  วันห้างดาต้องมีการต้อนรับแขกเพื่อนฝูง ต่างบ้านที่ได้ไปเชิญเขาไว้  ข้าวปลาอาหารที่ต้อนรับเพื่อนฝูง มิหนำซ้ำต้องฆ่า วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เป็นอาหารต้อนรับเพื่อนฝูงวันห้างดาก๋วยสลาก ถือเป็นการทำบุญ - ทำบาป    ทำบุญ ทำบาป
            เมื่อถึงวันที่ ของงานทุกหลังคาเรือนต้องเอาก๋วยสลากหน้อย ก๋วยสลากใหญ่ กัณฑ์สลากสร้อย ไปรวมกัน
ที่วัด พร้อมทั้งใบปิ๋วคือใบตาลที่เขียน ไม่ว่าสลากหน้อย สลากใหญ่ สลากสร้อย ก๋วยสลากหน้อย ใหญ่ สร้อย ต้องตั้งไว้ที่ชั้นใครชั้นมันที่วัด ใบปื๋วใบปล่อยต้องเอามอบให้กรรมการผู้รับผิดชอบหรือเอาวางไว้กับหมู่ที่วางไว้แท่นพระ ถ้าพระสงฆ์มาครบ คณะศรัทธามาครบแล้ว ทำพิธีกราบพระ รับศีลแล้ว ทำพิธีคนใบสลากเสร็จแล้ว นับใบสลากให้รู้ว่าใบสลากรวมทั้งหมดมีกี่ร้อยกี่พันใบ เมื่อรู้จำนวนแล้ว ก็มานับดูพระภิกษุสามเณร ทั้งหมดมีเท่าไร พระภิกษุ
เท่าไร สามเณรเท่าไร เมื่อรู้จำนวนแล้ว ก็มาหารเลขให้ภิกษุรูปละ1 มัด 2 ส่วน สามเณรรูปละ 1 มัด 1 ส่วน
ยกถวายพระพุทธรูป 1 มัด 2 ส่วน
            เมื่อพร้อมทุกอย่างแล้ว ก็เอามัดใบสลากวางไว้เหนือพาน 1 มัด ประเคนพระสงฆ์รูปที่เป็นประธาน พระรูปที่เป็นประธานกล่าวคำอุปโหลก จบคำแล้ว พระสงฆ์ทุกรูปอนุโมทนา  แล้วก็กล่าวคำถวายสลากจบแล้ว พระสงฆ์สาธุอนุโมทนาอีก แล้วก็รับพร รับพรเสร็จก็เสร็จพิธี  แล้วทำการแจกใบสลากให้พระภิกษุรูปละ 1 มัด สามเณรรูปละ 1 มัด นำออกไปอ่านรับก๋วยสลาก ถ้าหมดแล้วเป็นอันเสร็จพิธี ส่วนสลากสร้อยนั้น ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดได้ ต้องให้ผู้เป็นน้อย เป็นหนานอ่านค่าวเสียก่อนค่อยกรวดน้ำ
 - แห่ครัวทาน ( อ่านว่าแห่คัวตาน) งาน แห่ครัวทาน เป็นกิจกรรมเก่าแก่ของล้านนา เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของพิธีกรรมทางศาสนา คือการที่ศรัทธาชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกลุ่มบุคคล เพื่อนำเอาเครื่องไทยทานที่จัดทำขึ้นไปถวายแก่พระสงฆ์ในงาน พอยหลวง ( อ่าน ปอยหลวง ” ) คืองานฉลองถาวรวัตถุในวัดนั้น เช่น งานประเพณีฉลองสมโภช โบสถ์ วิหาร กุฏิ หรือถาวรวัตถุที่สำคัญของพุทธศาสนา ถือว่าบุคคลที่ได้ร่วมการแห่ครัวทานนี้ จะได้รับอานิสงส์เป็นอันมาก ครัวทานที่นำไปแห่เข้าวัดนั้นแยกเป็นสองประเภท คือ ครัวทานบ้านและครัวทานหัววัด ครัวทานบ้าน คือครัวทานที่ชาวบ้านซึ่งเป็นศรัทธาในสังกัดของวัดที่จัดงานอยู่นั้นเป็นผู้จัดไปถวายวัด ซึ่งครัวทานบ้านนี้มักจะประกอบด้วยวัตถุเครื่องใช้ในวัด เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วยชามหรือเสื่อ เป็นต้น ปกติชาวบ้านจะแห่ครัวทานบ้านไปถวายในวันแรก และวันที่สองจะมีงานฉลอง ส่วนครัวทานหัววัด คือครัวทานหรือองค์เครื่องไทยทานจากหัววัดหรือวัดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันจะมาร่วมทำบุญในวันที่สองและที่สามหรือวันสุดท้ายของงานครัวทานหัววัดนี้อาจจัดมารอมทาน
( อ่าน ฮอมตาน ” ) คือมีทั้งชนิดที่มีแต่เครื่องไทยทานมากับพระหรือเณรพร้อมกับชางบ้านนั้นสองสามคนมาเพื่อสืบไมตรีกันเล็กน้อยโดยไม่มีขบวนแห่ และมีทั้งที่จัดขบวนแห่มาอย่างเต็มรูปแบบ  ต้นครัวทานหรือองค์เครื่องไทยทาน ไม่ว่าจะเป็นต้นถ้วยหรือองค์เครื่องไทยทานที่ใช้ถ้วยชามมาจัดแต่งเป็นหลัก ต้นผ้า คือองค์เครื่องไทยทานที่ใช้ผ้าของสงฆ์มาจัดขึ้น ต้นเก้าอี้คือองค์เครื่องไทยทานที่ใช้เก้าอี้มาประกอบขึ้น หรือชองอ้อยหรือกระบะมีขาสูงเสมอเอวและมีขาตั้งสี่ขา ซึ่งในกระบะนั้นบรรจุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ และมีต้นดอกหรือพุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ที่มียอดคือไม้ตับหนีบธนบัตรเสียบไว้ ชาวบ้านจะนำครัวทานของตนที่จัดขึ้นมาพร้อมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นหมวดแล้วจัดเครื่องประโคมฆ้องกลองแห่แหน นำเครื่องไทยทานตามกันไปสู่วัด ตามเส้นทางนั้นชาวบ้านมักจะฟ้อนรำทั้งด้วยความปิติหรือเพราะฤทธิ์สุรา ส่งเสียงโห่ร้องเกรียวกราวโกลาหลจนเข้าถึงวัด เมื่อครัวทานถึงวัดแล้วปู่อาจารย์จะนำชาวบ้านไหว้พระรับศีลและกล่าวคำสมมาครัวทานแล้วจึงประเคนเครื่องไทยทานถวายพระ ถ้าต้นครัวทานมีขนาดใหญ่มากก็อาจใช้พานดอกไม้ถวายแทนก็ได้ พระสงฆ์ที่เป็นเจ้าพอร ( อ่าน เจ้าปอน ” ) คือผู้มีโวหารก็จะกล่าวให้พรด้วยโวหารที่ไพเราะอลังการเพื่อฉลองศรัทธาของชาวบ้าน ในกรณีที่ครัวทานนั้นเป็นครัวทานหัววัด คือองค์เครื่องไทยทานที่หัววัดหรือพระสงฆ์และศรัทธาจากวัดที่มีความสัมพันธ์กับวัดเจ้าภาพเคลื่อนขบวนแห่มานั้น มักจะเป็นขบวนที่ค่อนข้างวิจิตร อาจมีช่อช้างหรือธงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่นำหน้า มีพระสงฆ์และปู่อาจารย์ ถือ ขันนำทาน ซึ่งเป็นพานข้าวตอกดอกไม้ สำหรับนำไปถวายแทนที่จะถวายเครื่องไทยทานทั้งชุดนำหัวขบวน มีช่างฟ้อนและเครื่องดนตรีแห่มามีคณะศรัทธาแห่เครื่องไทยทานเข้าสู่วัด ฝ่ายเจ้าภาพเมื่อเห็นครัวทานหัววัดเข้ามาแล้วก็จะไปต้อนรับ ทั้งที่เป็นแบบการรอมทานและการแห่ครัวทานเข้าวัด คือในส่วนที่หัววัดแห่ครัวทานมานั้น ฝ่ายเจ้าภาพก็จะจัดฟ้อนต้อนรับ มีคนนำช่อช้างคือธงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ไปรับขบวนแห่ มีคนนำสัปทนไปกั้นให้แก่พระสงฆ์ที่นำขบวน มีคนไปช่วยหามฆ้องกลองและช่วยหามเครื่องไทยทาน และมีผู้นำพานดอกไม้ไปอาราธนาขบวนให้เข้าสู่วัดอย่างสมเกียรติ ในวันสุดท้ายที่มีการแห่ครัวทานเข้าวัดนั้นจะมีการนิยมนต์พระสงฆ์จากหัววัดมาค้างคืนเพื่อร่วมอบรมสมโภชนพระพุทธรูปทั้งเก่าและใหม่ พระสงฆ์ที่มานั้นจะร่วมสวดมนต์ตั้งลำ สงดเบิกพระเนตร เทศน์มหามังคลสูตร ปฐมสมโพธิ ธัมมจักก์และพุทธาภิเษก ในตอนดึกเรื่อยไปจนถึงสว่าง จะมีพิธีสวดเบิกพระเนตรพระพุทธรูปอีกด้วย เมื่อเสร็จงานพอยหลวงแล้ว เจ้าอาวาสจะพาศรัทธาชาวบ้านนำเครื่องไทยทานไปถวายแก่พระที่เป็นเจ้าพอรเป็นการขอบคุณที่ได้ช่วยงาน ซึ่งบางครั้งอาจแห่เครื่องไทยทานไปเป็นการเอิกเกริกก็มี การแห่ครัวทานที่เห็นได้ใน พ . ศ . 2537 นี้ บางแห่งยังจัดให้มีการประกวดครัวทานอีกด้วย ซึ่งในการประกวดนั้นอาจประกวดความงดงามของครัวทาน ประกวดความเรียบร้อยของขบวน และประกวดความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบครัวทานอีกด้วย มีธรรมเนียมอีกประการหนึ่งที่นิยมปฏิบัติกันมา คือเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจงานพอยหลวงแล้ว ทางวัดจะนิมนต์เจ้าอาวาสให้ไปหลีกเคราะห์อยู่ที่วัดอื่นระยะหนึ่ง ซึ่งอาจเพราะให้ทานได้พักผ่อนหลังภาระงานหนัก หรืออาจไม่ต้องการให้มีคนรบกวนท่านก็ได้
- ประเพณีเลี้ยงผีวัด  ผีบ้าน  สมัยบ้านเมืองยังไม่เจริญรุ่งเรือง คนโบราณมักอยู่กันเป็นขกู๋น (ตระกูลเดียวกัน) ถ้าหากว่าผู้ที่เป็นคนมาตั้งบ้านอยู่เป็นคนแรกแล้วก็มาแพร่ขยายหมู่ญาติตระกูลให้กว้างขวางขึ้น ถ้าหากคนนี้ล้มตายจากไปไม่ว่านานแค่ไหนหลายชั่วคนแล้วก็ตาม ท่านเหล่านี้ได้ทำประโยชน์ไว้ให้ลูกหลานที่เกิดมาภายหลังมักจะได้รับบอกเล่าสืบต่อกันมานั้นเป็นตระกูลของพวกญาติเราคือพี่น้องกันและยังมีหอที่บ้านนั้นเป็น ผี ปู่ ย่า และถือว่าผู้ตายไปแล้วยังมีวิญญาณและที่ได้ไปเกิดเป็นเทวบุตรเทวดาไปแล้วก็มีที่เหลือหลงเป็นคนวิสัย กลายเป็นสัมภเวสี คอยรับส่วนบุญอยู่ก็มี คนโบราณยังจดจำเรื่องนี้อยู่ในจิตใจว่า ท่านเหล่านี้ยังมีบุญคุณแก่ตนมาก่อน เมื่อคิดได้เช่นนั้นก็จึงได้ทำที่สักการะบูชาพจึงพากันทำที่อยู่อาศัยให้ ปู่ ย่ามีเสื่อ หมอน น้ำต้น (คนโท) ขันหมาก กระโถน แจกันดอกไม้ ธูป เทียน ไว้บูชา การสร้างตูบ ผีปู่ย่านั้นนิยมสร้างกันตามที่ต้นตระกูล เรียกว่า (เรือนแก้ว) หรือเรียกว่าเก้าผี สร้างเป็นตูบใหญ่บ้างเล็กบ้าง บางตระกูลทำใหญ่โตเพราะญาติมากเวลาเลี้ยงจะมากันหลาย การทำเช่นนี้ก็เป็นจารีตประเพณีอันหนึ่งของคนโบราณ การทำบุญทำทานหาญาติชาวพุทธเราก็ทำกันอยู่เสมอ แต่ถ้าถึงประเพณีเลี้ยง ผี ปู่ ย่า มาถึงก็ทำกันอีกแต่ดูทุกวันนี้จะมีน้อยลงเพราะสภาพของโลกบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปสิ่งที่นับถือกันดึกดำบรรพ์ก็ละทิ้งไปเพราะไม่มีใครสนใจ ก็หายไปบ้างมีอยู่บ้าง ส่วนมากอำเภอ ตำบล รอบนอกยังมีผี ปู่ ย่า กันอยู่ ความจริงคนโบราณท่านถือกันก็ไม่มีการเสียหาย จะถือว่างมงายก็จริงอยู่ แต่ถ้าถือกันจริงจังอย่างถูกต้อง ก็มีผลดีอยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวสมัยโบราณ พ่อแม่ต้องกำชับกำชาอย่าให้ผิดผีและเที่ยวไปไหนคนเดียวไม่ได้ หนุ่มสาวจะจับมือถือแขนกันไม่ได้ ถ้าจับต้องผิดผี ถ้ามีใครเห็นจะถูกปรับไหม ให้เลี้ยงผี ถ้าเลี้ยงเหล้าเลี้ยงไก้ดี นี้เลี้ยงหมูเป็นตัวผู้ชายใดทำเช่นนี้ก็จะถูกนินทาเอาว่าเป็นคนไม่ดีผู้หญิงก็เสียหายเป็นคนไม่มีค่ารู้ไปถึงไหนคนเขาก็ว่าเป็นผู้หญิงใจทรามเป็นที่อับอายขายหน้า ฉะนั้น คนโบราณเขาจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้มากจะไม่แตะต้องกันเลย เวลาผู้ประพฤติไม่ชอบผีมักจะซ้ำเติมกับผู้ที่เจ็บป่วยในเครือญาติ การเลี้ยงผี ปู่ ย่า แล้วแต่จะตกลงกันว่าปีนี้จะเลี้ยงไก่หรือหมู ถ้าเลี้ยงไก่ก็นำมาคนละตัว ถ้าเลี้ยงหมู ก็เก็บเงินกันนำมาสังเวย พอได้กำหนดก็จะเอามาเลี้ยงกันเป็นการรวมญาติเป็นปี ๆ ให้ลูกหลานได้รู้จักกันสืบต่อไป
-  ประเพณีการสืบชาตา ทำได้ทุกเดือน
การสืบชาตานี้หมายถึง การต่ออายุ ให้ยืดยาวยืนนานออกไป และเพื่อเป็นสิ่งสิริมงคลมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ปราศจากโรคาพยาธิเภทภัยทั้งหลายให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป การสืบชะตานี้จะไม่ใช่แก่นแท้ในทางพระพุทธศาสนาก็ตาม ว่ากันว่าเป็นลัทธิพราหมณ์อยู่บ้างแต่ก็ได้สาระประโยชน์ในด้านจิตใจอย่างไม่น่าเชื่อ ดังปรากกอยู่ตำนานคัมภีร์สืบชะตาได้กล่าวว่าสมัยพุทธกาลมีสามเณรน้อยองค์หนึ่งซึ่งชื่อติสสะ อายุ 7 ปี บวชและปฏิบัติธรรมอยู่ในสำนักพระสารีบุตรเถระ อยู่มาวันหนึ่งพระสารีบุตรเถระได้สังเกตเห็นสามเณรน้อยติสสะมีผิวพรรณวรรณและสีหน้าหม่นหมองหงอยเหงาโศกเศร้า ดังนั้นพระสาลีบุตรเถระจึงได้เข้าญาณสมาบัติเลยก็รู้ว่าสามเณรน้อยติสสะผู้นี้จะมีอายุได้เพียง 7 วันเท่านั้นก็จะถึงแก่มรณภาพ ดังนั้นพระสารีบุตรเถระจึงได้บอกให้สามเณรติสสะได้รับทราบเมื่อสามเณรติสสะได้รับทราบว่าตนเองจะถึงแก่มรณภาพใน 7 วัน สามเณรก็มีความทุกข์ใจมีใบหน้าหม่นหมอง และเต็มไปด้วยน้ำตา สามเณรจึงกราบลาพระสารีบุตรเถระเพื่อจะไปบอกกล่าวและลาพ่อแม่ของตนก่อนที่จะมรณภาพ เมื่อสามเณรน้อยติสสะได้ลาพระสาลีบุตรแล้วก็ออกเดินทางมุ่งหน้ากลับบ้านทันที ในขณะที่เดินทางไปนั้นมองเห็นด้วย หนอง คลอง บึง น้ำ กำลังแห้งขอด ตื้นเขิน ปลาน้อยใหญ่ที่อยู่อาศัยในน้ำนั้นก็ต่างพากันกระเสือกกระสนหาน้ำเพื่อหนีจากความตาย ในขณะนั้นสามเณรน้อยติสสะได้เห็นดังนั่นก็ได้รำพึงในใจว่า อันตัวเรานี้ก็จะมรณภาพภายใน 7 วัน เช่นเดียวกับปลาทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าไม่มีน้ำฉะนั้นก่อนที่เราจะมรณภาพเราขอได้โปรดสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ได้รอดพ้นจากความตายดีกว่า เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้วก็ได้เอาปลาน้อยใหญ่ทั้งหลายใส่ในบาตรของตนแล้วนำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ให้พ้นจากความตายให้มีอายุยืนยาวนานต่อไป เมื่อสามเณรน้อยติสสะเดินทางมาถึงบ้านแล้วก็ได้เล่าเรื่องที่ตนจะถึงแก่มรณภาพอีก 7 วันให้พ่อแม่และญาติพี่น้อง ในเมื่อเขาเหล่านั้นได้ทราบเรื่องราวแล้ว ต่างคนก็มีความเศร้าโศกเสียใจ ต่างก็สงสารสามเณรน้อยผู้นั้นเป็นยิ่งนัก แล้วเขาทุกคนก็รอคอยวันที่สามเณรน้อยติสสะจะมรณภาพโดยความโศกเศร้าเสียใจ และเมื่อถึงวันเวลากำหนดมาถึงสามเณรน้อยติสสะก็ยังไม่เป็นอะไรคือยังไม่มรณะภาพเลย แล้วสามเณรน้อยติสสะกลับมีผิวพรรณผุดผ่องใสงามยิ่งกว่าเก่า และสามเณรติสสะก็ได้เดินทางกลับไปหาพระสารีบุตรแล้วได้เล่าเรื่องต่าง ๆ กราบนมัสการที่ตนได้ไปปล่อยปลาทั้งหลายนั้นให้พระสารีบุตรฟังจนทุกประการ พระสารีบุตรจึงกล่าวว่าการกระทำของสามเณรน้อยติสสะนี้ หากเป็นกุศลกรรมที่ยังให้เห็นเป็นพลังให้พ้นจากหายนะ คือความเสื่อมความตายและยังมีชีวิตยิ่งยืนนานอีกต่อไป ดังนี้จากตำนานเรื่องนี้เองจึงทำให้ศรัทธาสาธุชนเมืองเหนือเราเกิดความเชื่อถือได้ มีการกระทำพิธีสืบชะตาเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้   การสืบชะตานี้นั้นทำให้คนเรามีขวัญและดำลังใจดีขึ้นและการสืบชะตานี้เราจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ด้วยกันคือ
1. การสืบชะตาบ้านจะทำได้ก็ปีละครั้งหรือว่า ถ้ามีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นก็ทำได้
2. การสืบชะตาเมืองจะทำก็ต่อเมื่อได้ครบรอบสร้างเมืองหรือในเมื่อที่กำหนดให้วันมงคลของบ้านเมือง
3. สืบชะตาคนทำได้ตลอดทุกโอกาส
การสืบชะตาคนนั้นเป็นประเพณีอันเป็นมงคลที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่นิยมกันสืบต่อกันมาเท่าทุกวันนี้ เช่นเนื่องในวันครบรอบอายุ หรือวันคล้ายวันเกิดขึ้นบ้านใหม่ ได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์ ได้รับโชคลาภหรือย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่บางครั้งก็ถูกทำนายทายทัก ชะตาขาดทำอะไรไม่ค่อยเจริญมีอันเป็นไปต่าง ๆ นา ๆ สืบชะตาแล้วจะดีขึ้นบางทีเจ็บออด ๆ แอด ๆ 3 วันดี 4 วันไข้ กินยาอะไรก็ไม่หายก็นิยมสืบชะตาต่ออายุจะทำให้อยู่สุขสบายขึ้น ตามแห่งโบราณลานนาเราเคยทำเป็นตัวอย่างกันมานานแล้ว (เป็นแล้ว)
-  ประเพณีการเวนทาน
ประเพณีนี้ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่ผู้รู้ทั่วไปให้ความยกย่องว่าดียิ่ง ประเพณีแบบนี้ไม่มีในภาคอื่นของประเทศไทย นับว่าเป็นความดีพิเศษของนักปราชญ์โบราณล้านนาไทย ที่ได้คิดว่างระเบียบแบบแผนเวนทานไว้ ส่งให้ทราบถึงความละเอียดอ่อนแห่งดวงใจที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จึงเป็นหน้าที่แห่งเราต้องรักษาส่งเสริมให้มั่นคงยืนยาว สืบลูกหลานต่อไปในอนาคต การจะส่งเสริมรักษาประเพณีการเวนทานนี้ เราต้องเข้าใจความหมายและประโยชน์ของการเวนทานพอสมควร เมื่อเราเห็นความสำคัญของการเวนทานแล้ว เราจึงจะเกิดความรักความหวงแหนและรักษาไว้ ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะกล่าวถึงการเวนทานเรื่องอื่น ๆ จะพูดถึงประโยชน์ของการเวนทานก่อน  ประโยชน์ของการเวนทาน  คือ
1. เป็นโอกาสให้ อาจารย์ชาวบ้านได้อบรมสั่งสอนศรัทธาแทนพระ
2. เป็นการประโลมโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้เกิดศรัทธาปสาทะมีปิติอิ่มเอมในกุศลทานที่ได้ประกอบและเป็นการตัดกังวลมลทินออกจากใจเจ้าภาพ
3. เป็นการฝึกหัดให้คนฟังเกิดความอดทน คือทนอดที่จะฟังเวนทานให้จบ เป็นการให้เกิดสมาธิ
4. ทำให้ผู้มาร่วมอนุโมทนาทราบชัดถึงการถวายทานและวัตถุประสงค์ เกิดอารมณ์ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเจ้าภาพ
5. ผู้ฟังย่อมได้ทราบสาระคำสอนที่แฝงอยู่ในวันทานนั้น ๆ นำไปเป็นข้อเตือนใจได้
บุคคลผู้สมควรจะเป็นอาจารย์เวนทาน  ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. ควรเป็นหนาน คือผู้ที่เคยอุปสมบทมาแล้ว เพราะผู้ที่เคยอุปสมบทมาแล้วย่อมจะทราบระเบียบวินัยและจิตใจของพระสงฆ์ ย่อมปฏิบัติสอดคล้องต้องกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระสงฆ์ ผู้ที่ยังไม่เคยบวชเป็นพระมาก่อนถ้าประสงค์จะเป็นอาจารย์เวนทาน คนโบราณย่อมให้เขาบวชเป็นพระเสียก่อน อย่างน้อยก็ 1 พรรษาในบางโอกาสเมื่อมีงานใหญ่ ไม่อาจจะหาอาจารย์เวนทานให้เหมาะสมแก่งานได้ เขาก็จะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ผู้ฉลาดสามารถในการเวนทาน ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ก็มี
2. เป็นการเหมาะสมโดยแท้ที่อาจารย์ผู้ทำหน้าที่เวนทาน ควรเป็นผู้มีศีล 5 อยู่กับตัวเป็นนิจ แม้ที่สุดไม่อาจจะรักษาศีลให้ครบทั้ง 5 ข้อได้ การรักษาศีลข้อที่ 5 ให้ได้ คือ ไม่เป็นคนดื่มสุราเมรัย เพราะผู้นำทานควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ตาม อีกประการหนึ่งก็เป็นบุญเป็นอานิสงฆ์แก่ผู้เป็นอาจารย์ด้วย
3. เป็นผู้มีระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ทั้งในแบบโบราณลานนาไทยและแบบสมัยปัจจุบันพอเป็นหลักเป็นแนวในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ให้รู้จักสังเกตเมื่อไปในงานพิธีทั้งหลายถ้าเกิดสงสัยให้ถามท่านผู้รู้เพื่อจะนำมาประยุกต์ในการนำทำพิธีภายในหมู่บ้านของเรา อนึ่งอาจารย์ย่อมเป็นที่ปรึกษาของชาวบ้านในเรื่องต่าง ๆแม้กระทั่งการหามื้อหาวันเป็นต้น
4. อาจารย์พึงเป็นผู้มีมารยาทอ่อนน้อม เคารพยำเกรงในพระภิกษุสามเณร รู้จักวางตัวให้ถูกฐานะ รู้จักสิ่งที่ควรและไม่ควร ไม่พึงตั้งตัวเป็นผู้มีอำนาจเข้าควบคุมกิจการภายในของวัด
5. เป็นผู้อยู่ท่ามกลางระหว่างพระกับศรัทธาชาวบ้าน เรื่องใดที่พระพูดกับศรัทธาโดยตรงไม่ได้ ย่อมเป็นหน้าที่ของอาจารย์จะพูดแทนเรื่องใดที่ศรัทธาชาวบ้านเกิดแคลงใจไม่อาจจะพูดจะถามโดยตรงกับพระได้ ก็เป็นหน้าที่ของอาจารย์จะพูดแทนศรัทธา ทั้งนี้ให้ยึดความสามัคคีเป็นหลัก
6. เป็นผู้รู้จักกาลเทศะในการเวนทานคือรู้จักเวลาและสถานที่ ว่าเวลานี้ สถานที่นี้ควรจะเวนสั้นหรือแววยาว ควรใช้สติปัญญาพิจารณาดู หรือควรถามความต้องการของพระสงฆ์ที่เป็นประธานในพิธี
7. เป็นผู้ไม่มีมานะกระด้างถือตัวไม่รู้จักยอมคน เพราะอาจารย์เป็นตัวแทนของธรรมะพึงเป็นผู้บันเทา โลภะ โทสะ โมหะ ให้ลดน้อยถอยลง ถือเหตุถือผลความถูกต้องเป็นหลัก ถ้ามีงานเกิดขึ้นในหมู่บ้านเช่น งานศพ แม้เจ้าภาพเขาไม่บอกกล่าวด้วยเหตุใดก็ตาม อาจารย์ก็ควรไปตามหน้าที่โดยเป็นศรัทธาก็ได้
8. เป็นผู้แสวงหาความรู้เสมอ ชอบฟังชอบถามในเรื่องที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาปฏิบัติปรับปรุงตัวเองให้เจริญขึ้น ตามที่กล่าวมาทั้ง 8 ข้อนี้ ความจริงอาจจะยังไม่หมด เท่าที่คิดได้พอเป็นหลักดูดเหมือนจะมีเท่านี้ หากอาจารย์ใดมีคุณสมบัติดังกล่าวมาสัก 2-3 ข้อ ก็นับว่าเป็นอาจารย์ที่ดียิ่งแล้ว แต่ถ้าได้ครบหมดยิ่งเป็นการดี
ระเบียบปฏิบัติก่อนจะทำบุญถวายทาน
เบื้องแรกของการเป็นอาจารย์ อาจารย์ฟังรู้จักระเบียบศาสนาพิธีดี พอที่จะนำไปปฏิบัติได้ และต้องรู้ระเบียบพิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเดา ๆทำด้วยคิดว่า ท่าจะดีในที่นี้จะกล่าวถึงศาสนพิธีที่เราปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป เรียกว่าเป็นหลักใหญ่ของพิธีทางศาสนาทั้งหลายพอสังเขป  เมื่อมีงานทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นงานศพหรืองานมงคลก็ตาม อาจารย์วัดย่อมมีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าภาพ ในด้านพิธีการทั้งหลาย เพราะส่วนมากชาวบ้านไม่ค่อยรู้ หรือถ้ารู้ก็รู้ผิด ๆเพราะว่าไม่ใช่หน้าที่เขาโดยตรง อาจารย์ต้องไปแนะนำหรือดำเนินการแทนเจ้าภาพ เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปอย่างถูกต้อง เป็นหน้าที่ของอาจารย์จะต้องเอาใจใส่  คือ
•  การจัดสถานที่
ถ้าจัดงานที่บ้าน ให้จัดห้องโถงที่กว้างขวางของเรือนเป็นที่ทำพิธี เมื่อจะใช้ม่านกั้นด้านหลังพระพุทธรูป ไม่ควรให้ปิดหน้าต่างในเมื่อเป็นฤดูร้อน เพราะทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี ผู้เข้าอยู่ในพิธีหรือพระที่มาทำพิธีจะหงุดหงิดเพราะความร้อน ถ้าห้องโถงไม่มี หรือมีแต่แคบไม่พอทำพิธีได้ ควรจัดทำพิธีข้างล่างทางด้านหน้าเรือนโดยทำปรำผามเพียงหรือกางเต็นท์ให้สูง ใช้แท่นสังฆ์หรือเตียงเป็นอาสน์สงฆ์ ควรนิมนต์พระให้พอดีกับสถานที่
•  การตั้งโต๊ะหมู่บูชา
ถ้าห้องโถงกว้างขวาง ให้ตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ด้านขวามือของพระสงฆ์ ถ้าห้องโถงไม่กว้างยาวพอจะจัดแบบที่กล่าวได้ ให้ตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ตรงกลางชิดฝาผนัง เหมือนพระพุทธรูปที่ตั้งไว้ในวิหาร ให้พระสงฆ์นั่งออกมาทั้ง 2 ด้าน  ส่วนการจัดโต๊ะหมู่บูชานั้น ก็พึงทำให้ละเอียดประณีต ตามธรรมดาโต๊ะหมู่บูชานั้นมีหมู่ 5 หมู่ 7 หมู่ 9 ส่วนมากที่เรานำมาตั้งที่บ้านนั้นจะเป็นหมู่ 5 หรือบางที่ก็เพียง 3 ตัวก็มี จะเป็นโต๊ะหมู่ชนิดใดก็ตาม เราย่อมตั้งพระพุทธรูปไว้โต๊ะที่สูงที่สุดตรงกลางโต๊ะ 2 ข้างพระพุทธรูปซึ่งต่ำลงมาให้วางแจกันดอกไม้ ดอกไม้ที่จะปักแจกันควรเป็นดอกไม้สด เพื่อจะนำจิตใจให้แช่มชื่น ไม่ควรใช้ดอกไม้แห้ง และควรระวังอย่าให้ดอกไม้คลุมพระพุทธรูป โต๊ะที่ต่ำลงมาด้านหน้าพระพุทธรูป ให้วางกระถางธูปและเชิงเทียนตามลำดับ ควรขัดชำระให้สะอาดอย่าปล่อยให้สกปรกเทียนควรใช้เทียนสีผึ้ง 2 เล่ม ธูป 3 ดอกไม่ควรเอาอะไรนอกจากที่กล่าวมา วางบนโต๊ะหมู่บูชาหรือวางภายใต้โต๊ะหมู่บูชาเป็นอันขาด เพราะเป็นการไม่เหมาะขาดคารวะ ผู้รู้ท่านถือว่าโต๊ะหมู่บูชาเป็นหัวใจของงานไม่ใช้ของเล่น ๆ เราเห็นโต๊ะหมู่บูชาก็ย่อมรู้ว่า เจ้าภาพมีความลึกซึ้งในพระรัตนตรัยแค่ไหน พระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เราควรทำอย่างประณีตเต็มด้วยความคารวะที่สุด
•  การล้วงด้ายสายสิญจน์
ควรล้วงจากฐานพระพุทธรูปเวียนออกไปทางขวาตามคตินิยม ไม่ควรเอาด้ายสายสิญจน์คล้องคอพระพุทธรูปหรือผูกที่ใดก็ตาม ที่เรามองดูแล้วเป็นการขาดความเคารพ เมื่อเอาด้ายสายสิญจน์ล้วงที่ฐานะพระพุทธรูปดแล้ว ให้ล้วงเวียนขวาอ้อมเรือนหรือมณฑลพิธี จนวกกลับมาบรรจบกับเงื่อนเดิมที่ฐานพระพุทธรูป อีกเงื่อนหนึ่งที่เหลือม้วนเป็นกลุ่มให้เหลือยาวพอที่พระสงฆ์จะถือได้ครบทุกองค์ แล้วเอาล้วงรอบบาตรน้ำมนต์ 3 รอบ วางกลุ่มด้ายสายสิญจน์นั้นไว้บนพานอีกใบหนึ่ง ไม่ใช่ขันศีล ส่วนบาตรน้ำมนต์นั้นให้ปักเทียนน้ำมนต์ไว้ และหญ้าคนหนึ่งกำมือมัดให้เรียบร้อย เพื่อให้พระสงฆ์ใช้ชัดประพรมน้ำมนต์
•  การจัดอาสนะสงฆ์
เราจัดวางโต๊ะหมู่บูชาไว้แล้ว จากนั้นก็ปูลาดอาสน์สงฆ์ ถ้าปูเสื่อและคนทั่วไปก็นั่งเสื่อให้ปูพรมหรือผ้าก็ได้ทับบนเสื่ออีกชั้นหนึ่ง ถ้าปูพรมและคนทั่วไปก็นั่งบนพรมนั้นให้มีผ้าอื่นปูทับอีกชั้นหนึ่ง ไม่ควรให้พระสงฆ์นั่งบนเสื่อหรือพรมร่วมกับทายกทาริกา จัดระยะที่นั่งให้ห่างกันพอที่จะขยับเขยื้อนได้สะดวก ไม่ควรจัดที่นั่งชิดกันเกินไป เป็นการทรมานพระสงฆ์ซึ่งต้องนั่งทำพิธีอยู่นาน และให้มีหมอพิงหลังองค์ละใบ ส่วนคนโท ( น้ำต้น ) กระโถนนั้น ไม่ควรเอาวางจนครอบพระทุกองค์ เพราะรู้สึกเกะกะทำให้ที่คับแคบควรจะตั้งคนโท 1 ใบต่อพระ 2 รูป กระโถนก็เหมือนกัน ส่วนหมากพลูเหมี้ยงบุหรี่ควรถวายให้ครบทุกรูป
ก่อนทำพิธีเวนทาน
เมื่อพระมาถึงแล้ว ท่านจะนั่งตามอายุพรรษาของท่าน เจ้าภาพก็ประเคนหมากพลู บุหรี่ หรือน้ำในตอนนี้สำหรับพระเมื่อรับประเคนหมากพลูบุหรี่แล้ว จะวางไว้ตรงหน้าหรือจะเอาใส่ย่ามเลยก็ได้ เมื่อถึงเวลาทำพิธี ให้เชิญเจ้าภาพรวมทั้งลูกเมียมานั่งตรงหน้าพระสงฆ์ เว้นแต่บางคนอาจมีธุระเจ้าภาพเขาจะบอกให้ทราบ เมื่อเจ้าภาพมาครบแล้ว อาจารย์พึงประกาศบอก ศรัทธาทั้งหลายให้ทราบว่า ‘' บัดนี้ถึงเวลาที่จะทำพิธีถวายทานแล้ว เบื้องแรกนี้จะได้เชิญ ……. เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ในระหว่างที่เจ้าภาพกำลังจุดธูปเทียนอยู่นี้ ขอเชิญท่านทั้งหลายประนมมือ '' แล้วเชิญเจ้าภาพจุดธูปเทียน การจุดธูปเทียนนั้น ตามที่นิยมกัน ท่านให้จุดเทียนเล่มซ้ายมือของเราก่อน แล้วจึงจุดเล่มขวามือของเราแล้วจึงมาจุดธูปทีหลัง เมื่อเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว อาจารย์พึงกล่าวนำไหว้พระและสมาทานเบญจศีล การไหว้พระนั้นจะให้อาจารย์ว่านำแล้วศรัทธาว่าตามก็ได้ หรือจะว่าพร้อมกันทุกคนก็ได้ ทั้งนี้ขอให้เป็นไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยและคารวะยิ่ง เมื่อไหว้พระเสร็จแล้ว ใครคนใดคนหนึ่งที่อยู่ใกล้พึงประเคนขันศีล แล้วกล่าวคำสมาทานเบญจศีลโดยว่าพร้อมกัน  เมื่อพระให้ศีลจบแล้ว ถ้าในพิธีนั้นมีการเจริญพระพุทธมนต์แบบพื้นเมือง ให้อาจารย์ขึ้น สัคเค ฯลฯ แล้วพระสงฆ์ก็เริ่มสวดตามแบบลานนาไทย ถ้าจะเจริญพระพุทธมนต์ตามแบบภาคกลาง ให้อาจารย์กล่าวคำอาราธนาพระปริตร คือ วิปตติ ปฏิพาหาย ฯลฯ พระสงฆ์  ถ้าพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ไปถึง ราชโต วา โจรโต วา ฯลฯ ให้เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ ถ้าพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ตามแบบภาคกลางไปถึง อเสวนา จ พาลานํ ฯลฯให้เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ เมื่อจุดเทียนน้ำมนต์เสร็จแล้วให้ยกประเคนพระผู้เป็นประธานในพิธีนั้นแล้วกลับมานั่งประนมมือฟังสวดมนต์ ถ้าเป็นงานศพ  ให้เพิ่มการตั้งศพไว้ในที่เหมาะสม ตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ตรงกันข้ามกับหัวศพ ห่างประมาณ 1 วา หรือดูให้พอเหมาะ จุดไฟยามไว้ที่ใกล้กระถางธูป เพื่อให้คนที่มาเคารพศพจุดธูปจากไฟยามอันนั้น ผู้ที่ไปบ้านศพ เมื่อขึ้นห้องที่ไหว้ศพแล้วพึงกราบพระก่อน แล้วจึงมาจุดธูป 1 ดอกไหว้เคารพศพ แล้วให้ปักธูปลงในกระถางธูปโดยให้ปลายธูปโน้มไปข้างหน้า เราไหว้สิ่งใดพึงปักปลายธูปโน้มเข้าหาสิ่งนั้น ไม่ควรปักธูประเกะระกะหาระเบียบมิได้ เพราะระเบียบพิธีในพระพุทธศาสนานั้น ต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยสายโยงศพ อนึ่งด้ายที่ผูกกับตาปูด้านหัวศพนั้นไม่ใช่ด้ายสายสิญจน์เป็นด้ายโยงใช้แทนร่างของศพ เมื่อเวลาพระบังสกุล ไม่อาจจะบังสุกุลที่ศพได้ด้วยเหตุใดก็ตาม ท่านให้โยงด้ายเส้นนั้นโรยผ่านหน้าพระสงฆ์ แล้วเอาผ้าบังสุกุลวางพาดบนด้ายเส้นนั้น พระก็ชักบังสุกุลที่ด้านเส้นนั้น เมื่อเสร็จแล้วให้ม้วนใส่พานเก็บไว้ในพานวางไว้ที่ใกล้ศพ ไม่พึงเอาให้พระใส่มือประนมสวดเหมือนด้ายสายสิญจน์ และไม่ควรข้ามเหยียบด้าย เวนทาน เมื่อพระสวดหรือเทศน์จบแล้ว ก็ถึงวาระของอาจารย์จะทำหน้าที่เวนทาน การเวนทานไม่ว่าจะเวนในงานศพหรืองานมงคลก็ตาม มีวิธีดำเนินการเหมือนกัน คือ
•  สมาหรือสูมาครัวทาน •  อัญเชิญเทวดา                       
•  ยอคุณพระรัตนตรัย     •  เนื้อเรื่องดเวนทาน      
•  กล่าวคำถวายทาน       •  แผ่บุญ
•  สมาพระรัตนตรัย
ในการสม ครัวทานนั้น ให้มีพานดอกไม้และมีขันใส่น้ำส้มป่อยวางบนพานนั้นขณะที่อาจารย์กล่าวคำสมาครัวทานนั้น ให้ใครคนใดคนหนึ่งยกพานนั้นขึ้นเสมอหน้าผาก เมื่ออาจารย์ว่าคำสมาครัวทานจบแล้ว ให้เอาน้ำส้มป่อยนั้นประพรมไปตามไทยธรรมทั้งหมดเพื่อให้ของทานบริสุทธิ์ปราศจากมลทินโทษ สมกับคำที่ท่านกล่าวว่า ทายบริสุทธิ์คือมีศีลของทานบริสุทธิ์ปราศจากมนทินทั้งปวง และ ปฏิคาหกบริสุทธิ์ด้วยศีล ความบริสุทธิ์ทั้ง 3 ประการพร้อมแล้วทานนั้นย่อมเกิดผลเกิดอานิสงส์มาก
 แหล่งการเรียนรู้หอเจ้าหลวง
ด้าน ขนบธรรมเนียม  ประเพณี  ความเชื่อ วัฒนธรรม พื้นบ้าน
ข้อมูลพื้นฐาน 
            หอเจ้าหลวง   หมู่  5  ตำบลป่าแลวหลวง  อำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน  55210
สถานที่ตั้ง
 บ้านสบยาง    หมู่  5   ตำบลป่าแลวหลวง  อำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน  55210
วัน เวลา ที่ให้บริการ
                        เปิดทำพิธี ในวันพญาวัน (15 เมษายน
ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม / รับบริการ
ค่าใช้จ่ายตามจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบเป็นกองทุนเพื่อปรับปรุงหอเจ้าหลวง
ผู้รับผิดชอบ    นายตา   เสนนันตา    ตัวแทนร่างทรง(ข้าวจ้ำ)
ประวัติความเป็นมา
หอเจ้าหลวง ที่ให้ความคุ้มคลอง ดูแลรักษาหมู่บ้าน จำนวน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย  บ้านสบยาง   หมู่ที่ 5 บ้านดอนชัย หมู่  6, บ้านน่านมั่นคง หมู่  และบ้านพนาไพร หมู่ 10  มีเจ้าหลวงคอยดูแลคุ้มคลองภัยอันตรายต่าง ๆ อยู่ จำนวน  พระองค์ คือ   1. เจ้าหลวงภูคา,  2. เจ้าหลวงอาชญา,  3.เจ้าภาพใจดำ,
4.เจ้านางเกี๋ยงคำ และ 5. เจ้าหลวงพญาอู   
     -  ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ปู่ ย่า ตายาย ผู้เฒ่า ผู้แก่ ท่านเล่าให้ฟังว่า เจ้าหลวง ทั้ง 5 พระองค์นี้ เคยนับถือกันว่าเป็นผีเจ้าบ้าน เจ้าเมือง เคยมาเข้าสิงห์บุคคลในหมู่บ้าน แล้วพูดออกมาว่า เรานี้เป็นเจ้า พ่อมาจากถิ่นนั้น ถิ่นนี้ และเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์เก่งกล้าสามารถทุก ๆ ด้าน พอชาวบ้านรับทราบจึงพากันกราบไหว้ เข้าใกล้ชิด คอยพูดจา ชักถาม เรื่องราวต่าง ๆ บ้างก็ถวายตัวเป็นผู้รับใช้ โดยนำเอาขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน
ไปบนบานสารกล่าว แล้วชักถามทั้งหญิงและชาย เขาเรียกว่า   เข้าจ้ำ”  หรือผู้รับใช้  โดยมีชาวบ้านทั้ง หมู่บ้านเป็นบริวาร  คำถามที่จะถามเจ้าหลวงทั้งหลาย มักจะถามว่าท่านมามีกิจประสงค์อันใด ก็ขอเชิญท่านไขหน้า อ้าปากบอกกับพวกเราด้วย  แล้วเจ้าหลวงทั้งหลายจะบอกว่า ที่เรามานี้เพราะความเดือนร้อน แก่สูเจ้าทั้งหลายนั้นแหละ ที่เรามานี้เรามาด้วยกัน พระองค์ ต่างองค์ ต่างก็มีหน้าที่รับผิดชอบ องค์ละอย่าง เป็นประธานคอยควบคุมดูแลทั่วเมืองเหนือ  มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของประธานให้มาดูแลสิ่งเลวร้าย อันตรายทั้งปวง ที่จะเกิดขึ้นในบ้านเมือง และผู้คนตลอดถึงสัตว์เลี้ยง เจ้าองค์อื่น จะมาก้าวก่ายไม่ได้
มีหน้าที่ขับไล่สิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย  ที่จะมาก่อความไม่สงบสุขกับบ้านเมืองตลอดถึงผู้คนและสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ให้ความอนุเคราะห์บรรเทาความเดือนร้อนต่าง ๆ เช่น ปีใดฝนฟ้าไม่ตก   ตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง ชาวบ้านจะพากันเอาขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน มาบนบานสารกล่าว เพื่อขอน้ำฟ้าน้ำฝนจากเจ้าพ่อพญาอู ท่านก็จะบรรดารให้ฟ้าฝนตกลงมา  นอกจากนั้นยังมีการบนบานสารกล่าวต่าง ๆ ตามแต่ผู้คนจะนับถือ อาทิเช่น การเดินทางไปยังถิ่นแดนไกล หรือไปหางานทำ ไปเป็นทหารสู้ศึกศัตรูหมู่ร้าย ไปสอบเข้าทำงาน สอบเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ก็มักจะมีผู้คนเหล่านี้มาบนบานสารกล่าวขอให้เจ้าหลวงให้ความคุ้มคลองและช่วยเหลือให้พบปะกับความสำเร็จในสิ่งดังหวัง และให้อยู่รอดปลอดภัย มีความร่มเย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า  เป็นอาจิณ ปัจจุบันนี้มีผู้คนนับถือกันมากทุก ๆ ปี จะมีการเลี้ยงเจ้าหลวง ก่อนวันปีใหม่เมือง (ปีใหม่สงกรานต์) เรียกว่าเลี้ยงป๋าง เสร็จแล้วจะมีพิธีการเจ้าหลวงเข้าสิงห์ร่างผู้ประทับร่างทรง ในวันพญาวัน (15 เมษายน
องค์ความรู้/สิ่งที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้ เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น  ประเพณี  ความเชื่อ  
1.การนับถือเจ้าที่ เจ้าหลวง หรือการเข้าประทับร่างทรงตลอดจนการบนบานสารกล่าว
2.ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน
ศาลเจ้าหลวง   (หอเจ้าหลวง) ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านสบยาง ตำบลป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
พิธีบวงสรวงหรือเลี้ยงปางประจำปี  ประกอบด้วย พาน 4 ใบ ในแต่ละใบจะมีสิ่งของต่าง ๆ เช่น หมาก
1 หัว พู 1 มัด เทียน 12 คู่ ดอกไม้ขาว ผ้าขาว ผ้าแดง น้ำดื่ม น้ำส้มป่อย จำนวน 4 ชุด  ไก่ต้มสุก 4 ตัว
หัวหมู 1 หัว แข่งหมู 4 แข่ง หางหมู 1 หาง เครื่องในหมู ที่ต้มสุกแล้ว จำนวน 1 ชุด สุราขาว 4 ขวด
พิธีอัญเชิญเจ้าหลวงลงมาประทับร่างทรง  อุปกรณ์ที่จะใช้ประกอบด้วย  พาน 4 ใบ ในแต่ละใบจะมีสิ่งของ
ต่าง ๆ เช่น หมาก 1 หัว พู 1 มัด เทียน 12 คู่ ดอกไม้ขาว ผ้าขาว ผ้าแดง น้ำดื่ม น้ำส้มป่อย  สุราขาว  นอกจากนั้นจะมีคนเฒ่าคนแก่ เข้าจ้ำ (คนรับใช้ช่างซอ ช่างปิน (ช่างซึง) ช่างสะล้อ ช่าง ขลุ่ย  มีการฟ้อนรำ ท่าทางต่าง ๆ อบรมสมโภช ร่ำไร เพื่อขอเชิญท่านลงมาประทับร่างทรงทีละองค์ ๆ ขณะเดียวกันก็จะมีการจุดธูปเทียน บูชาไปพร้อม ๆ กัน ผู้ทำหน้าที่เป็นเข้าจ้ำก็จะพล่ำวอนเจ้าหลวงทั้งหลายให้ลงมาประทับร่างทรง เพื่อขอพรบ้าง ขอฟ้าฝนบ้าง ขอให้คุ้มครองอันตรายต่าง ๆ บ้าง สอบถามถึงปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ควรจะปฏิบัติอย่างไรให้พ้นภัยต่าง ๆ แล้วท่านก็จะบอก ถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไข พวกชาวบ้านจึงได้นำไปปฏิบัติให้เกิดความผาสุขใน 4 หมู่บ้านต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น