วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

คลายร้อนกันหน่อยกับผลไม้


รับสมัครนักศึกษา กศน.

กศน.ตำบลป่าแลวหลวงรับสมัครนักศึกษา ในระดับประถม มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย
ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึง วันที่ ๑๑  เดือน  พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘  ณ กศน.ตำบลป่าแลวหลวง

        หลักฐาน/เอกสารที่ยื่นในวันสมัคร
                     ๑. วุฒิเดิม
                     ๒. สำเนาทะเบียนบ้าน
                     ๓. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
                     ๔. รูปถ่าย
                     ๕. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุล
                     ๖. หลักฐานอื่นๆ

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

คณิตศาสตร์พื้นฐาน


ฺBest Practice ตำบลป่าแลวหลวง


Best Practice

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นายทรงวุฒิ  คำนาน เลขที่ 29 หมู่ 10 ตำบลป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน


กิจกรรมเด่นศูนย์เรียนรู้

การทำก๊าชชีวภาพจากมูลสัตว์
การปลูกปาล์มน้ำมัน

การเลี้ยงไก่พันธ์ุไข่


การทำเตาอบถ่าน
การเลี้ยงหมู่แม่พันธุ์

การเลี้ยงหมูขุน



การปลูกผักปลอดสารพิษ



การเลี้ยงปลากินพืืช

ภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลป่าแลวหลวง


ข้อมูลแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
แหล่งการเรียนรู้ ด้านภูมิปัญญาชาวบ้านการสู่ขวัญ
ความรู้ด้านประเพณี วัฒนธรรม  ความเชื่อพื้นบ้าน
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อภูมิปัญญาท้องถิ่น   พ่ออาจารย์ถา    พรมคำ     

อายุ   75   ปี  วุฒิการศึกษาจบชั้น  .4  อาชีพ 
สถานที่ตั้ง    
อยู่บ้านเลขที่  22     หมู่ที่ 3   ตำบลป่าแลวหลว    อำเภอสันติสุข  
จังหวัดน่าน  55210 หมายเลขโทรศัพท์  -
วัน เวลา ที่ให้บริการ
            ทุกวันตามที่ทางเจ้าภาพกำหนดจัดพิธี โดยมีการหาฤกษ์ในการประกอบพิธีตามความเชื่อของชาวล้านนาโดยยึดเอาวันดีตามหนังสือปี๋ใหม่เมืองเป็นวันประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวล้านนา
ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม / รับบริการ
            -  ค่าตอบแทน ซึ่งก็แล้วแต่ศรัทธา
ผู้รับผิดชอบ     พ่ออาจารย์ถา   พรมคำ  
ประวัติความเป็นมา
มีความรู้ความความสามารถพิเศษเกี่ยวกับ หมอสู่ขวัญ   ขณะบวชเรียนได้ศึกษาถึงพระธรรมคำสอนตามหลักพระไตรปิฎก ขณะเดียวกันก็ได้มีการเรียนเกี่ยวกับภาษาล้านนา (ตัวอักษรพื้นเมือง)ไปด้วย ซึ่งบวชได้เป็นเวลา 8 ปีก็ลาสิกขาออกมา หลังจากลาสิกขาออกมาก็ได้ไปศึกษาตำราเกี่ยวกับการสู่ขวัญ พิธีกรรมต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อนำมาใช้ในการรักษาทางจิตและทางกายคนป่วยกับพ่ออาจารย์ท่านหนึ่ง
กิจกรรมที่ให้บริการ /ความรู้ /องค์ความรู้ /ความชำนาญ/สิ่งที่น่าศึกษาเรียนรู้
          1.การสู่ขวัญ
            2.การสะเดาะเคราะห์
            3.การดูฤกษ์ สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ
            4.การศึกษาอักษรล้านนา(ตั๋วเมือง)
          5.การเป่าเพื่อรักษาโรค
ประเพณีสู่ขวัญ สู่ขวัน หรือ สู่ขวัญ
               หมายถึงพิธีเลี้ยงอาหารแก่ขวัญ ซึ่งการสู่ขวันของชาวล้านนา คือพิธีกรรมที่ตรงกับการเรียกขวัญของคนในไทยภาคกลาง และมีข้อปลีกย่อยทีต่างกันไม่มากนัก การสู่ขวันนี้อาจเรียกว่า สู่เข้าเอาขวัน เรียกขวัน ( อ่าน เฮียกขวัน ”) หรือ ร้องขวัน ( อ่าน ฮ้อง ขวัน คือป้อนอาหารเพื่อเชิญขวัญให้คืนสู่ตนตัวของบุคคลซึ่งป่วยเรื้อรังมีเหตุเสียใจหรือหมดกำลังใจอย่างรุนแรง หรือเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ใหม่ โดยกล่าวกันว่าขวัญของบุคคลดังกล่าวได้เตลิดไปจากตัวตน จึงต้องทำพิธีเรียกและปลอบประโลมขวัญนั้นให้กลับคืนสู่บุคคลตามเดิม เรื่องการสู่ขวัน เป็นประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันในล้านนาซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ลงตัว ในที่นี้ใคร่จะเชิญบทนิพนธ์ของพลตรีเจ้าราชบุตร ( วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่ ) ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือ เจ้าหลวงเชียงใหม่ โดยเจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่และคณะมาลงไว้ เพื่อให้เห็นขั้นตอนต่างๆ เต็มตามต้นฉบับดังนี้ การสู่ขวัญหรือสู่พระขวันหรือสู่พระขวัญเป็นประเพณีของชาวล้านนาไทยมาแต่โบราณกาล ทางภาคกลางนิยมเรียกว่า การรับขวัญคนที่เดินทางไกลไปต่างถิ่นเป็นเวลานาน บางทีก็ประสบความเหนื่อยยากในการเดินทาง มีความคิดถึงบ้าน หรือต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจและเสียขวัญ เมื่อกลับมาถึงบ้านเรืองของตนแล้ว ก็นิยมเอาธูปเทียน ดอกไม้ไปบูชากราบไหว้พระสงฆ์และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ มีบิดามารดา เป็นต้น เพื่อขอให้ท่านซึ่งมีวัยวุฒิเหล่านั้น เรียกขวัญและปลอบอกปลอบใจให้ขวัญกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวต่อไป อย่าได้ไถลไปที่อื่น คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเวลานานหรือป่วยหนักจนกำลังลดถอยลง มักจะขอให้พระหรือคนเฒ่าคนแก่ทำพิธีผูกมือเรียกขวัญ ในการนี้ท่านจะกล่าวถ้อยคำอันเป็นสิริมงคลเรียกขวัญแล้วอำนวยพรให้พ้นภัยพิบัติอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป การกล่าวคำเรียกขวัญนี้ บางทีท่านก็กล่าวเป็นคำประพันธ์และอาจเป็นทำนองที่มีไพเราะด้วย การเรียกขวัญหรือสู่ขวัญเช่นนี้ได้ทำกันแพร่หลายภายหลังได้ขยายการทำดอกไม้บูชาเป็นพุ่มงดงามเรียกว่าบายศรีประกอบด้วยเครื่องเซ่นไหว้เพิ่มเติมขึ้นอีก โดยเฉพาะในการต้องรับคนต่างถิ่นหรือผู้มีเกียรติที่มาเยี่ยมเยือน ถ้าเป็นงานต้อนรับขนาดใหญ่มากนักจะมีขบวนแห่ด้วยประวัติการทำบายศรีทูลพระขวัญและสู่ขวัญของจังหวัดเชียงใหม่นั้นได้ทำกันมานานแล้ว เท่าที่พอจะหาหลักฐานได้นั้น มีมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าราชการผู้ใหญ่ที่เดินทางมาราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังเคยได้บันทึกไว้ว่า เฉพาะแต่การต้อนรับสู่ขวัญและพาชมเมืองก็หมดวันเสียแล้ว ในระยะต่อมาพิธีทูลพระขวัญที่ควรจะได้กล่าวถึง และเป็นประวัติการของจังหวัดเชียงใหม่ คือพิธีทูลพระขวัญถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระราชวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๙


การสู่ขวัญ มีด้วยกัน 7 ประเภท  คือ
               1.  สู่ขวัญคนเฒ่าคนแก่  2. สู่ขวัญคนที่ป่วยไข้  3. สู่ขวัญคนเพื่อให้เป็นสิริมงคล  4. สู่ขวัญนาค  5. สู่ขวัญคู่บ่าวสาวในโอกาสแต่ง -งานใหม่  6. สู่ขวัญข้าวใหม่  7.  สู่ขวัญวัว,ควาย ฯลฯ   การทำพิธีสู่ขวัญคนเฒ่าคนแก่ ที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นมงคล  นิยมจัดหลังเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะในวันพญาวัน วันปีใหม่เมือง (15 เมษายน)
          การทำพิธีสู่ขวัญให้คนที่อยู่ไม่สบาย หรือเจ็บป่วยต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้ที่ป่วยมีขวัญและ กำลังใจสามารถต่อต้านโรคต่าง ๆ ได้
          การทำพิธีสู่ขวัญให้คนธรรมดา คือจัดให้คนที่เดินทางไปทำงานยังต่างจังหวัด แล้วกลับมาอยู่บ้าน หรือกำลังจะเดินทางไปทำงานหาเงิน หรือบุคคลที่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน เพื่อเป็นกำลังใจ
ต่อไป ถือเป็นสิ่งมงคลในชีวิตอีกวิธีการหนึ่งด้วย
          การทำพิธีสู่ขวัญนาค คือ สู่ให้ลูกหลานที่จะเข้าไปศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ทางภาษาล้านนา และศึกษาทางโลก แล้วเข้าทำพิธีบรรพชา อุปสมบท ก่อนที่จะเข้าพิธีทางพระสงฆ์ ภาคเหนือนิยมกัน
โกนหัว นุ่งห่มสีขาว ถือว่าเป็นนาค แล้วต้องมีพิธีการสู่ขวัญ ก่อนพิธีบรรพชา อุปสมบท ได้ถือสืบทอดกันมาแต่โบราณกาล
           การทำพิธีสู่ขวัญให้แก่คู่บ่าว สาว ก่อนที่จะเข้าสู่พิธีแต่งงาน เพราะนิยมสืบ ๆ กันมา คือคู่บ่าวสาวที่มีความรักใคร่ชอบพอกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือที่เคารพนับถือ ทั้งสองฝ่าย เห็นพร้อมต้องตามแล้ว ทางคู่บ่าว สาว จะพากันไปจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย เสร็จแล้วฝ่ายพ่อแม่พี่น้องทั้งสองฝ่าย จะหาฤกษ์งามยามดี ได้วันดีแล้ว เมื่อถึงวันกำหนด จะมีการกระทำพิธีสู่ขวัญให้ตามประเพณี  เพื่อให้เป็นมงคลแก่คู่บ่าว สาว
      การสู่ขวัญข้าว มี 3 ขั้นตอน เอาแต่จะสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติ  บ้างจะสู่ตอนพิธีแฮกนาปลูกข้าว หรือตอน
ตีข้าว หรือนวดข้าว และตอนนำข้าวมาสู่ยุ้งฉางเสร็จแล้ว ตามแต่จะสะดวก ของเจ้าของข้าว
          การสู่ขวัญวัว ควาย มักนิยมสู่ขวัญ หลังจากเสร็จจากการทำนา จะทำพิธีสู่ขวัญให้แก่ควายที่ใช้
ไถนา หรือสู่ขวัญวัว ที่ใช้เทียมเกียวน เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณที่ได้ใช้แรงของสัตว์เลี้ยง
          ประเพณีตานธรรมมหาวิบาก  - ตานธรรมพระพิมลแก้ว ตานกั๋ม ตานข้าวสังค์ดิบ  สวดข้าวพระเมืองแก้ว  ฯลฯ
          ประเพณีทั้ง ประเภท นี้มักนิยมทำ ให้แก่ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือใกล้จะตายแต่ไม่ตาย ทนทุกข์ทรมานมานาน จะมีการทำพิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง ใน 5 ประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  เมื่อทำจัดทำพิธีกาลดังกล่าวแล้ว  ถ้ากรรมตายมาถึงผู้นั้นก็จะตายไปในที่สุด ถ้ากรรมตายยังมาไม่ถึง อาการต่าง ๆ ก็จะเริ่มดีวันดีคืนและหายไปในที่สุด

การสู่ขวัญบุคคลธรรมดา  (คนป่วย)
-   ประวัติความเป็นมา
          ขณะที่ป่วยคนเราถือได้ว่าสภาพทางจิตใจนั้นแย่มากๆ อีกทั้งสุขภาพร่างกายก็ดูทรุดโทรมตามไปด้วย เนื่องจากว่ามีแต่ความวิตกกังวลว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร จะหายป่วยหรือไม่  จะหายเมื่อไหร่ ถ้าหายแล้วร่างกายจะสมบูรณ์แข็งแรงเหมือนเดิมไหม เป็นต้น ซึ่งการวิตกกังวลเหล่านี้ก็เหมือนกับยิ่งทำให้จิตใจว้าวุ่นเพิ่มความเครียดให้กับตัวเองหนักเข้าไปอีก
            ดังนั้นในอดีตจึงมีกุศโลบายในการรักษาคนป่วยโดยผ่านพิธีกรรมการสู่ขวัญซึ่งเป็นการเรียกขวัญคนป่วยให้กลับมาอยู่กับเจ้าของ  การปัดเคราะห์ซึ่งเชื่อว่าเป็นการปัดเป่าเอาความชั่วร้ายสิ่งที่ไม่ดีออกไปให้พ้นจากร่างกาย ถ้าหากว่าคนป่วยคนไหนที่ได้กระทำตามพิธีกรรมนี้แล้วก็จะหายป่วย ร่างกายก็จะกลับมาสมบูรณ์แข็งแรงเหมือนเดิม
            ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์แล้วก็เป็นการรักษาทางด้านจิตใจนั่นเอง คือ เป็นการเพิ่มกำลังใจให้คนป่วยรู้สึกดีขึ้น รู้สึกมีพลังในการต่อสู้
-   วิธีดำเนินการ
            มีขั้นตอนโดยการเตรียมเครื่องสู่ขวัญ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้  ขันเงิน/ข้าวต้ม/ขนม/เทียน/น้ำดื่ม/เสื้อผ้าผู้ป่วย/ไก่ต้ม/ดอกไม้/น้ำส้มป่อย/สุรา/กระจก/หวี/เครื่องประดับ/ด้ายมัดแขน/กล้วย/หมาก/พลู/บุหรี่/เมี้ยง เป็นต้น
            หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์เสร็จก็จะประกอบพิธีกรรมตามขั้นตอนต่อไปนี้
            - ปัดเคราะห์ให้คนป่วย
            -  เรียกขวัญ
            -  ป้อนข้าว
            -  ป้อนน้ำ
            -  สุรา
            -  มัดแขน   * คำสู่ขวัญแต่ละพิธีกรรมก็จะแตกต่างกันออกไป
ผลการดำเนินงาน/ผลรับ/ผลผลิต/ผลสำเร็จ
            -  ช่วยให้ชาวบ้านมีความเชื่อ มีความศรัทธา เป็นที่น่ายอมรับ
            -  เป็นที่รู้จักของหมู่บ้านอื่น
            -  สามารถทำให้ผู้ป่วยนั้นมีความรู้สึกที่ดีขึ้น มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับความเจ็บป่วยได้ ทำให้ผู้ป่วยหายจากการป่วยได้เร็วขึ้น

การสู่ขวัญบุคคลผู้ใหญ่
 -  ประวัติความเป็นมา
          เนื่องจากการสู่ขวัญบุคคลชั้นผู้ใหญ่นั้นไม่ได้เป็นการสู่ขวัญ เพราะเกิดการเจ็บป่วยแต่อย่างใด  แต่เป็นการสู่ขวัญเพื่อเสริมสร้างอำนาจบารมีให้แข็งแกร่ง ให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์  ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการดำเนินชีวิตทั้งด้านหน้าที่การงาน ครอบครัวให้เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีอุปสรรคขัดขวางทั้งในปัจจุบันและอนาคต และเพื่อส่งผลบุญให้บุคคลผู้นั้นประสบความสำเร็จในชีวิตทุกๆด้าน ต่อไป


-   วิธีดำเนินการ
            มีขั้นตอนโดยการเตรียมเครื่องสู่ขวัญ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้  เครื่องบายศรี/หัวหมู/ขันเงิน/ข้าวต้ม/ขนม/เทียน/น้ำดื่ม/เสื้อผ้าผู้ป่วย/ไก่ต้ม/ดอกไม้/น้ำส้มป่อย/สุรา/กระจก/หวี/เครื่องประดับ/ด้ายมัดแขน/กล้วย/หมาก/พลู/บุหรี่/เมี้ยง เป็นต้น
            หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์เสร็จก็จะประกอบพิธีกรรมตามขั้นตอนต่อไปนี้
            - ปัดเคราะห์
            -  เรียกขวัญ
            -  ป้อนข้าว
            -  ป้อนน้ำ
            -  ป้อนสุรา
            -  มัดแขน
* คำสู่ขวัญแต่ละพิธีกรรมก็จะแตกต่างกันออกไป
ตัวอย่างคำสู่ขวัญ
            “เขาก็มาเย็บบายศรี เวียนแวด(ล้อม)ใหญ่น้อย ถอดถึงปลายประดับหยาย(เฉลี่ย)ตั้งมั่น มีหลายจั้น(ชั้น)แกนดูงาม เทียนตามและหางนาค ”  เป็นต้น
การสู่ขวัญงานมงคลสมรส
-   ประวัติความเป็นมา
          การจัดงานแต่งงานให้คู่บ่าวสาวสำหรับประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณนั้นไม่ได้มีประเพณีที่เอิกเกริกเฮฮาเหมือนสมัยนี้เพียงแต่ตามประเพณีคือหาวันดีได้ก็เชิญผู้เฒ่าผู้แก่และญาติทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อถึงวันกำหนดแล้วมารวมกันที่บ้านเจ้าสาว มาพร้อมแล้วและเมื่อถึงเวลาฤกษ์  เฒ่าแก่ฝ่ายเจ้าสาวประมาณ 5 คน  ขึ้นไปถือขันดอกไม้เทียน ถือว่าเป็นการไปขอเจ้าบ่าวมาเข้าพิธีแต่งงานสู่ขวัญ  เพื่อให้เป็นผัวเมียกันถูกต้องตามประเพณี เป็นทางการและเป็นมงคลแก่คู่บ่าวสาวด้วย เมื่อเฒ่าแก่ทำพิธีทุกอย่างเสร็จให้พรเสร็จแล้วการต้อนรับแขกด้วยอาหารก็ใช้ไก่ต้มที่เอาสู่ขวัญนั้นมาปรุงเป็นอาหารรับต้อนแขกก็เป็นที่เรียบร้อย  ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
-    วิธีดำเนินการ
            การจัดงานแต่งงานสู่ขวัญให้คู่บ่าวสาว  สมัยนี้เมื่อหาวันดีรู้แล้วว่าตรงกับวันไหน วันที่เท่าไร  เมื่อรู้ดีแล้วฝ่ายเจ้าบ่าวก็จัดการพิมพ์การ์ด พิมพ์บัตรเชิญ เชิญท่านผู้มีเกียรติ เชิญเพื่อนฝูง เมื่อใกล้วันแต่ง  ก็เอาการ์ด เอาบัตรออกไปเชิญผู้ที่จะมาร่วมงาน ส่วนญาติๆ และคนเฒ่าคนแก่ต้องมีคนหนุ่มฝ่ายเจ้าบ่าว   1 คน ฝ่ายเจ้าสาว 1 คนไปด้วยกัน เมื่อเชิญครบแล้ว ใกล้ๆวันแต่งพี่ป้าน้าอาทั้งหลายก็จะไปบ้านเจ้าสาวไปบ้านเจ้าบ่าว ไปช่วยกันแต่งขันบายศรี (ขันสู่ขวัญ-พาขวัญ) ทั้งบ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาว คนที่ยังหนุ่มรวมทั้งพ่อบ้าน เพื่อนฝูงก็ช่วยกันจัดเตรียมของใช้ เช่นถ้วย ช้อน ขันน้ำ ขวดน้ำ เครื่องครัวทำอาหาร ทุกอย่างจนครบ เมื่อถึงวันแต่งงานมาแล้ว บ้านเจ้าบ่าว บ้านเจ้าสาวต่างคนก็ต่างเตรียมให้พร้อมได้เวลาแล้วญาติฝ่ายเจ้าสาวประมาณสัก 5 คนขึ้นไปเตรียมเอาขันดอกไม้ เทียนและของที่ระลึกไปบ้านเจ้าบ่าว เอาขันนั้นขอกับพ่อแม่เจ้าบ่าว ขอเอาเจ้าบ่าวไปเป็นเขย ส่วนพ่อแม่เจ้าบ่าวก็อนุญาตตามประเพณี เมื่อพร้อมแล้วหมู่เพื่อนฝูงของเจ้าบ่าว ก็จัดขบวนเป็นหมู่พร้อมเพรียงกับแห่ขันหมากจากบ้านเจ้าบ่าวไป  เมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาวแล้วหยุดอยู่หน้าบ้านแล้วเจ้าสาวพร้อมเพื่อนก็ลงมาจากบ้านถือฝ้ายสีขาว 1 เส้น และสุรา 2 ขวด มารับเอาเจ้าบ่าวถ้ามีการผ่านประตูเงินประตูทองก็ทำไปตามประเพณี  จากนั้นก็ขึ้นบ้านไปนั่งลงที่ขันพาขวัญตั้งอยู่ตรงกลางคนเฒ่าคนแก่ ญาติๆ ก็ทำพิธีตามประเพณีเรื่อยไป จบแล้วก็มีการเลี้ยงรับแขกต่อไป
มีขั้นตอนโดยการเตรียมเครื่องสู่ขวัญ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้  บายศรี/ขันเงิน/ข้าวต้ม/ขนม/เทียน/น้ำดื่ม/เสื้อผ้าผู้ป่วย/ไก่ต้ม/ดอกไม้/น้ำส้มป่อย/สุรา/ด้ายมัดแขน/กล้วย/หมาก/พลู/บุหรี่/เมี้ยง เป็นต้น
            หลังจากที่เตรียมอุปกรณ์เสร็จก็จะประกอบพิธีกรรมตามขั้นตอนต่อไปนี้
            - ปัดเคราะห์
            -  เรียกขวัญ
            -  ป้อนข้าว
            -  ป้อนน้ำ
            -  สุรา
            -  มัดแขน
* คำสู่ขวัญแต่ละพิธีกรรมก็จะแตกต่างกันออกไป



ตัวอย่างคำสู่ขวัญ
            “พี่น้อง 2 เบื้อง(ฝ่าย) มาหลั่งล้อมอ้อมจรรจา ตามกติกาแห่งเครือเจ้าตามกอง (เครือญาติฝ่ายผู้หญิง)ไป้(สะใภ้) กอง (เครือญาติฝ่ายชาย)เขย”  เป็นต้น

การสู่ขวัญข้าว
-  ประวัติความเป็นมา
เนื่องจากอดีตมีความเชื่อว่าถ้าหากมีการประกอบพิธีกรรมสู่ขวัญ/เรียกขวัญข้าวนั้นโดยการเลี้ยงด้วยไก่ต้ม เหล้า ยา ปลาปิ้ง ขนมคาวหวานต่างๆ หลังจากเสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเพื่อเป็นการบูชาพระแม่โพสพที่ได้ทำให้ผลผลิตนั้นได้ออกมาในปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้การบริโภค  รวมไปถึงเป็นการขอขมาที่ได้เหยียบย่ำขณะที่ทำการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งเมื่อถ้าหากในปีนี้เราได้ประกอบพิธีกรรมสู่ขวัญข้าวแล้วจะส่งผลให้เราได้ข้าวเยอะในปีต่อไปและยังคงจะทำให้กินข้าวไม่เปลืองอีกด้วย
-   วิธีดำเนินการ
            มีขั้นตอนโดยการเตรียมเครื่องสู่ขวัญ ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้ หน่ออ้อย/หน่อกล้วย/ไหข้าว/หม้อนึ่ง/กล้วยหวี/อ้อยท่อน/ไม้เท้า/ไม้หนุน/ไม้ค้ำ/น้ำส้มป่อย/น้ำหอม/ดอกไม้/ผึ้ง/เทียน/ด้ายผูกยุ้งข้าว เป็นต้น
            หลังจากเตรียมอุปกรณ์ครบก็เข้าสู่พิธีการเรียกขวัญข้าวที่อยู่ตามทุ่งนา ป่า ที่ดอนต่างๆ ให้มาอยู่ในยุ้งข้าว ให้มากินข้าว กินปลา กินน้ำ กินเหล้า อาหารสำรับต่างๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ เมื่อเรียกขวัญเสร็จก็ทำการสู่ขวัญต่อไป โดยการตั้งนะโม 3 จบก่อน ต่อด้วยคำสูขวัญข้าว เมื่อสู่ขวัญเสร็จก็ต้องมีการมัดยุ้งข้าว/กระติ๊บข้าว/หม้อนึ่ง/ไหข้าว หรือภาชนะที่ใช้บรรจุข้าวต่างๆ
ตัวอย่างคำสู่ขวัญข้าวขึ้นต้นด้วย สลีสัสดีวันนี้หากก็เป็นวันดีฯ...(เนื้อหาคำสู่ขวัญจะเกี่ยวกับการเรียกขวัญข้าว





แหล่งการเรียนรู้วัดอภัยคีรี 
ด้าน  ศิลปะ วัฒนธรรม   ประเพณี  ความเชื่อข้อมูลพื้นฐาน 
 วัดอภัยคีรี   บ้านอภัยคีรี   เลขที่  57  หมู่  2 ตำบลป่าแลวหลวง  อำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน  55210
สถานที่ตั้ง
เลขที่  57  หมู่  2 ตำบลป่าแลวหลวง  อำเภอ
สันติสุข  จังหวัดน่าน  55210
วัน เวลา ที่ให้บริการ
            - ทุกวัน หากต้องการทำพิธีกรรมต่างๆ ให้
กำหนดวันตามฤกษ์ในการประกอบพิธีตามความเชื่อ
ของชาวล้านนาโดยยึดเอาวันดีตามหนังสือปี๋ใหม่เมืองเป็นวันประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวล้านนา
            - โรงเรียนพุทธศาสนาเปิดสอน ทุกวัน เวลา 17.00 น.- 18.00 น.
ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม / รับบริการ
-  ค่าใช้จ่ายตามจิตศรัทธาร่วมบริจาค
ผู้รับผิดชอบ     พระทองคำ  ตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะตำบลป่าแลวหลวง  
ประวัติความเป็นมา
ประวัติวัดอภัยคีรี ตั้งอยู่ เลขที่  57  หมู่  2 ตำบลป่าแลวหลวง  อำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน  55210  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2429  เดิม ชาวบ้านเรียกวัดป่าแลวม่อนที่ใช้คำว่าม่อน เพราะเป็นพื้นที่ภูเขาเตี้ยๆโล่งๆ มองเห็นแต่พื้นดินทรายขาวไม่มีต้นไม้ ชาวบ้านเรียกว่าม่อนหรือแผ่นดินล้านประชาชนส่วนใหญ่แยกย้ายมาจากบ้านป่าแลวจึงมีภาษาพูดเป็นภาษาลื้อ เหมือนกัน มีพระครูบาอินหวันเป็นเจ้าอาวาส รูปแรก ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านไสยศาสตร์ คาถาอาคม แกร่งกล้า
องค์ความรู้/สิ่งที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้
          1.ประเพณีการตานก๋วยสลาก/การแห่คัวตาน
            2.ประเพณีเลี้ยงผีวัด  ผีบ้าน
3.ประเพณีการสืบชาตา รดน้ำ  สะเดาะเคราะห์
4.การจัดสถานที่ให้ถูกหลักพิธีกรรมทางศาสนา
5.โรงเรียนสอนพุทธศาสนาในตอนเย็น
6.ปิดทองรูปเหมือน ครูบาอินหวัน  บูชาเหรียญ
-  ประเพณีตานก๋วยสลากออกพรรษาแล้ว ตามที่พระท่านบรรยายให้ฟังว่าการถวายตานก๋วยสลาก เมื่อสมัยโบราณโน้น เมื่ออกพรรษแล้ว เป็นต้นฤดูหนาว ผลไม้ต่างๆก็แก่สุกพอดี หมู่ชาวบ้านชาวสวนทุกครอบครัวก็มีการนึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา  ต่างคนก็ต่างเก็บเอาผลไม้ที่สุก แล้วเอาใส่ก๋วยหรือตะกร้ามารวมกันที่วัด แล้วทำพิธีถวายแด่พระภิกษุสมาเณร เพื่ออุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลไปหาผู้ที่ล่วงรับไปแล้ว  มีมารดา บิดา ปู่ย่า ตายาย พี่ป้าน้าอา  เป็นต้น เมื่อพระภิกษุสงฆ์ สามาเณรรับแล้ว ก็กรวดน้ำให้พรเป็นเสร็จพิธี ก็เป็นการตานก๋วยสลาก
**แต่ต่อมาถึงบัดนี้  ประเพณีการตานก๋วยสลกาสมัยนี้ ไม่เหมือนสมัยโบราณ สมัยนี้เป็นการจัดงานตานก๋วยสลากเพื่อหารายได้ การจัดงานตานก๋วยสลากสมัยนี้ จัด 2 วัน ในวันแรกเป็นวันห้างดาก๋วยสลาก  ก๋วยสลากสมัยนี้มี 3 อย่าง
-          สลากหน้อย(เล็ก)เรียกว่าสลากหน้อย
-          ก๋วยใหญ่เรียกว่าก๋วยสลากโจก
-          ก๋วยที่แต่งคล้ายปราสาท เรียกว่ากัณฑ์สลากสร้อย
กัณฑ์สลากทั้ง 3 อย่าง ต้องเอาใบตาลมาเขียนใบปล่อย เขียนคำอุทิศไปหาดวงวิญญาณคนนั้นคนนี้ 1 ก๋วยก็ 1ใบ 2 ก๋วยก็ 2 ใบ เรียกว่าใบสลาก ความกว้างของใบสลากประมาณกว้าง 2 นิ้ว ยาว 1 ศอก ทุกก๋วยต้องมีใบ ส่วนกัณฑ์สลากสลากสร้อยนั้นต้องมีใบเขียนคำค่าวปรารถนาองเจ้าของกัณฑ์สลากนั้น เนื้อความประมาณ 6หน้าหรือ 8 หน้าแผ่นกระดาษ อ่านเป็นคำค่าวจ้อยเมืองเหนือ  วันห้างดาต้องมีการต้อนรับแขกเพื่อนฝูง ต่างบ้านที่ได้ไปเชิญเขาไว้  ข้าวปลาอาหารที่ต้อนรับเพื่อนฝูง มิหนำซ้ำต้องฆ่า วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ เป็นอาหารต้อนรับเพื่อนฝูงวันห้างดาก๋วยสลาก ถือเป็นการทำบุญ - ทำบาป    ทำบุญ ทำบาป
            เมื่อถึงวันที่ ของงานทุกหลังคาเรือนต้องเอาก๋วยสลากหน้อย ก๋วยสลากใหญ่ กัณฑ์สลากสร้อย ไปรวมกัน
ที่วัด พร้อมทั้งใบปิ๋วคือใบตาลที่เขียน ไม่ว่าสลากหน้อย สลากใหญ่ สลากสร้อย ก๋วยสลากหน้อย ใหญ่ สร้อย ต้องตั้งไว้ที่ชั้นใครชั้นมันที่วัด ใบปื๋วใบปล่อยต้องเอามอบให้กรรมการผู้รับผิดชอบหรือเอาวางไว้กับหมู่ที่วางไว้แท่นพระ ถ้าพระสงฆ์มาครบ คณะศรัทธามาครบแล้ว ทำพิธีกราบพระ รับศีลแล้ว ทำพิธีคนใบสลากเสร็จแล้ว นับใบสลากให้รู้ว่าใบสลากรวมทั้งหมดมีกี่ร้อยกี่พันใบ เมื่อรู้จำนวนแล้ว ก็มานับดูพระภิกษุสามเณร ทั้งหมดมีเท่าไร พระภิกษุ
เท่าไร สามเณรเท่าไร เมื่อรู้จำนวนแล้ว ก็มาหารเลขให้ภิกษุรูปละ1 มัด 2 ส่วน สามเณรรูปละ 1 มัด 1 ส่วน
ยกถวายพระพุทธรูป 1 มัด 2 ส่วน
            เมื่อพร้อมทุกอย่างแล้ว ก็เอามัดใบสลากวางไว้เหนือพาน 1 มัด ประเคนพระสงฆ์รูปที่เป็นประธาน พระรูปที่เป็นประธานกล่าวคำอุปโหลก จบคำแล้ว พระสงฆ์ทุกรูปอนุโมทนา  แล้วก็กล่าวคำถวายสลากจบแล้ว พระสงฆ์สาธุอนุโมทนาอีก แล้วก็รับพร รับพรเสร็จก็เสร็จพิธี  แล้วทำการแจกใบสลากให้พระภิกษุรูปละ 1 มัด สามเณรรูปละ 1 มัด นำออกไปอ่านรับก๋วยสลาก ถ้าหมดแล้วเป็นอันเสร็จพิธี ส่วนสลากสร้อยนั้น ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดได้ ต้องให้ผู้เป็นน้อย เป็นหนานอ่านค่าวเสียก่อนค่อยกรวดน้ำ
 - แห่ครัวทาน ( อ่านว่าแห่คัวตาน) งาน แห่ครัวทาน เป็นกิจกรรมเก่าแก่ของล้านนา เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของพิธีกรรมทางศาสนา คือการที่ศรัทธาชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกลุ่มบุคคล เพื่อนำเอาเครื่องไทยทานที่จัดทำขึ้นไปถวายแก่พระสงฆ์ในงาน พอยหลวง ( อ่าน ปอยหลวง ” ) คืองานฉลองถาวรวัตถุในวัดนั้น เช่น งานประเพณีฉลองสมโภช โบสถ์ วิหาร กุฏิ หรือถาวรวัตถุที่สำคัญของพุทธศาสนา ถือว่าบุคคลที่ได้ร่วมการแห่ครัวทานนี้ จะได้รับอานิสงส์เป็นอันมาก ครัวทานที่นำไปแห่เข้าวัดนั้นแยกเป็นสองประเภท คือ ครัวทานบ้านและครัวทานหัววัด ครัวทานบ้าน คือครัวทานที่ชาวบ้านซึ่งเป็นศรัทธาในสังกัดของวัดที่จัดงานอยู่นั้นเป็นผู้จัดไปถวายวัด ซึ่งครัวทานบ้านนี้มักจะประกอบด้วยวัตถุเครื่องใช้ในวัด เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วยชามหรือเสื่อ เป็นต้น ปกติชาวบ้านจะแห่ครัวทานบ้านไปถวายในวันแรก และวันที่สองจะมีงานฉลอง ส่วนครัวทานหัววัด คือครัวทานหรือองค์เครื่องไทยทานจากหัววัดหรือวัดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันจะมาร่วมทำบุญในวันที่สองและที่สามหรือวันสุดท้ายของงานครัวทานหัววัดนี้อาจจัดมารอมทาน
( อ่าน ฮอมตาน ” ) คือมีทั้งชนิดที่มีแต่เครื่องไทยทานมากับพระหรือเณรพร้อมกับชางบ้านนั้นสองสามคนมาเพื่อสืบไมตรีกันเล็กน้อยโดยไม่มีขบวนแห่ และมีทั้งที่จัดขบวนแห่มาอย่างเต็มรูปแบบ  ต้นครัวทานหรือองค์เครื่องไทยทาน ไม่ว่าจะเป็นต้นถ้วยหรือองค์เครื่องไทยทานที่ใช้ถ้วยชามมาจัดแต่งเป็นหลัก ต้นผ้า คือองค์เครื่องไทยทานที่ใช้ผ้าของสงฆ์มาจัดขึ้น ต้นเก้าอี้คือองค์เครื่องไทยทานที่ใช้เก้าอี้มาประกอบขึ้น หรือชองอ้อยหรือกระบะมีขาสูงเสมอเอวและมีขาตั้งสี่ขา ซึ่งในกระบะนั้นบรรจุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ และมีต้นดอกหรือพุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ที่มียอดคือไม้ตับหนีบธนบัตรเสียบไว้ ชาวบ้านจะนำครัวทานของตนที่จัดขึ้นมาพร้อมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นหมวดแล้วจัดเครื่องประโคมฆ้องกลองแห่แหน นำเครื่องไทยทานตามกันไปสู่วัด ตามเส้นทางนั้นชาวบ้านมักจะฟ้อนรำทั้งด้วยความปิติหรือเพราะฤทธิ์สุรา ส่งเสียงโห่ร้องเกรียวกราวโกลาหลจนเข้าถึงวัด เมื่อครัวทานถึงวัดแล้วปู่อาจารย์จะนำชาวบ้านไหว้พระรับศีลและกล่าวคำสมมาครัวทานแล้วจึงประเคนเครื่องไทยทานถวายพระ ถ้าต้นครัวทานมีขนาดใหญ่มากก็อาจใช้พานดอกไม้ถวายแทนก็ได้ พระสงฆ์ที่เป็นเจ้าพอร ( อ่าน เจ้าปอน ” ) คือผู้มีโวหารก็จะกล่าวให้พรด้วยโวหารที่ไพเราะอลังการเพื่อฉลองศรัทธาของชาวบ้าน ในกรณีที่ครัวทานนั้นเป็นครัวทานหัววัด คือองค์เครื่องไทยทานที่หัววัดหรือพระสงฆ์และศรัทธาจากวัดที่มีความสัมพันธ์กับวัดเจ้าภาพเคลื่อนขบวนแห่มานั้น มักจะเป็นขบวนที่ค่อนข้างวิจิตร อาจมีช่อช้างหรือธงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่นำหน้า มีพระสงฆ์และปู่อาจารย์ ถือ ขันนำทาน ซึ่งเป็นพานข้าวตอกดอกไม้ สำหรับนำไปถวายแทนที่จะถวายเครื่องไทยทานทั้งชุดนำหัวขบวน มีช่างฟ้อนและเครื่องดนตรีแห่มามีคณะศรัทธาแห่เครื่องไทยทานเข้าสู่วัด ฝ่ายเจ้าภาพเมื่อเห็นครัวทานหัววัดเข้ามาแล้วก็จะไปต้อนรับ ทั้งที่เป็นแบบการรอมทานและการแห่ครัวทานเข้าวัด คือในส่วนที่หัววัดแห่ครัวทานมานั้น ฝ่ายเจ้าภาพก็จะจัดฟ้อนต้อนรับ มีคนนำช่อช้างคือธงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ไปรับขบวนแห่ มีคนนำสัปทนไปกั้นให้แก่พระสงฆ์ที่นำขบวน มีคนไปช่วยหามฆ้องกลองและช่วยหามเครื่องไทยทาน และมีผู้นำพานดอกไม้ไปอาราธนาขบวนให้เข้าสู่วัดอย่างสมเกียรติ ในวันสุดท้ายที่มีการแห่ครัวทานเข้าวัดนั้นจะมีการนิยมนต์พระสงฆ์จากหัววัดมาค้างคืนเพื่อร่วมอบรมสมโภชนพระพุทธรูปทั้งเก่าและใหม่ พระสงฆ์ที่มานั้นจะร่วมสวดมนต์ตั้งลำ สงดเบิกพระเนตร เทศน์มหามังคลสูตร ปฐมสมโพธิ ธัมมจักก์และพุทธาภิเษก ในตอนดึกเรื่อยไปจนถึงสว่าง จะมีพิธีสวดเบิกพระเนตรพระพุทธรูปอีกด้วย เมื่อเสร็จงานพอยหลวงแล้ว เจ้าอาวาสจะพาศรัทธาชาวบ้านนำเครื่องไทยทานไปถวายแก่พระที่เป็นเจ้าพอรเป็นการขอบคุณที่ได้ช่วยงาน ซึ่งบางครั้งอาจแห่เครื่องไทยทานไปเป็นการเอิกเกริกก็มี การแห่ครัวทานที่เห็นได้ใน พ . ศ . 2537 นี้ บางแห่งยังจัดให้มีการประกวดครัวทานอีกด้วย ซึ่งในการประกวดนั้นอาจประกวดความงดงามของครัวทาน ประกวดความเรียบร้อยของขบวน และประกวดความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบครัวทานอีกด้วย มีธรรมเนียมอีกประการหนึ่งที่นิยมปฏิบัติกันมา คือเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจงานพอยหลวงแล้ว ทางวัดจะนิมนต์เจ้าอาวาสให้ไปหลีกเคราะห์อยู่ที่วัดอื่นระยะหนึ่ง ซึ่งอาจเพราะให้ทานได้พักผ่อนหลังภาระงานหนัก หรืออาจไม่ต้องการให้มีคนรบกวนท่านก็ได้
- ประเพณีเลี้ยงผีวัด  ผีบ้าน  สมัยบ้านเมืองยังไม่เจริญรุ่งเรือง คนโบราณมักอยู่กันเป็นขกู๋น (ตระกูลเดียวกัน) ถ้าหากว่าผู้ที่เป็นคนมาตั้งบ้านอยู่เป็นคนแรกแล้วก็มาแพร่ขยายหมู่ญาติตระกูลให้กว้างขวางขึ้น ถ้าหากคนนี้ล้มตายจากไปไม่ว่านานแค่ไหนหลายชั่วคนแล้วก็ตาม ท่านเหล่านี้ได้ทำประโยชน์ไว้ให้ลูกหลานที่เกิดมาภายหลังมักจะได้รับบอกเล่าสืบต่อกันมานั้นเป็นตระกูลของพวกญาติเราคือพี่น้องกันและยังมีหอที่บ้านนั้นเป็น ผี ปู่ ย่า และถือว่าผู้ตายไปแล้วยังมีวิญญาณและที่ได้ไปเกิดเป็นเทวบุตรเทวดาไปแล้วก็มีที่เหลือหลงเป็นคนวิสัย กลายเป็นสัมภเวสี คอยรับส่วนบุญอยู่ก็มี คนโบราณยังจดจำเรื่องนี้อยู่ในจิตใจว่า ท่านเหล่านี้ยังมีบุญคุณแก่ตนมาก่อน เมื่อคิดได้เช่นนั้นก็จึงได้ทำที่สักการะบูชาพจึงพากันทำที่อยู่อาศัยให้ ปู่ ย่ามีเสื่อ หมอน น้ำต้น (คนโท) ขันหมาก กระโถน แจกันดอกไม้ ธูป เทียน ไว้บูชา การสร้างตูบ ผีปู่ย่านั้นนิยมสร้างกันตามที่ต้นตระกูล เรียกว่า (เรือนแก้ว) หรือเรียกว่าเก้าผี สร้างเป็นตูบใหญ่บ้างเล็กบ้าง บางตระกูลทำใหญ่โตเพราะญาติมากเวลาเลี้ยงจะมากันหลาย การทำเช่นนี้ก็เป็นจารีตประเพณีอันหนึ่งของคนโบราณ การทำบุญทำทานหาญาติชาวพุทธเราก็ทำกันอยู่เสมอ แต่ถ้าถึงประเพณีเลี้ยง ผี ปู่ ย่า มาถึงก็ทำกันอีกแต่ดูทุกวันนี้จะมีน้อยลงเพราะสภาพของโลกบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปสิ่งที่นับถือกันดึกดำบรรพ์ก็ละทิ้งไปเพราะไม่มีใครสนใจ ก็หายไปบ้างมีอยู่บ้าง ส่วนมากอำเภอ ตำบล รอบนอกยังมีผี ปู่ ย่า กันอยู่ ความจริงคนโบราณท่านถือกันก็ไม่มีการเสียหาย จะถือว่างมงายก็จริงอยู่ แต่ถ้าถือกันจริงจังอย่างถูกต้อง ก็มีผลดีอยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวสมัยโบราณ พ่อแม่ต้องกำชับกำชาอย่าให้ผิดผีและเที่ยวไปไหนคนเดียวไม่ได้ หนุ่มสาวจะจับมือถือแขนกันไม่ได้ ถ้าจับต้องผิดผี ถ้ามีใครเห็นจะถูกปรับไหม ให้เลี้ยงผี ถ้าเลี้ยงเหล้าเลี้ยงไก้ดี นี้เลี้ยงหมูเป็นตัวผู้ชายใดทำเช่นนี้ก็จะถูกนินทาเอาว่าเป็นคนไม่ดีผู้หญิงก็เสียหายเป็นคนไม่มีค่ารู้ไปถึงไหนคนเขาก็ว่าเป็นผู้หญิงใจทรามเป็นที่อับอายขายหน้า ฉะนั้น คนโบราณเขาจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้มากจะไม่แตะต้องกันเลย เวลาผู้ประพฤติไม่ชอบผีมักจะซ้ำเติมกับผู้ที่เจ็บป่วยในเครือญาติ การเลี้ยงผี ปู่ ย่า แล้วแต่จะตกลงกันว่าปีนี้จะเลี้ยงไก่หรือหมู ถ้าเลี้ยงไก่ก็นำมาคนละตัว ถ้าเลี้ยงหมู ก็เก็บเงินกันนำมาสังเวย พอได้กำหนดก็จะเอามาเลี้ยงกันเป็นการรวมญาติเป็นปี ๆ ให้ลูกหลานได้รู้จักกันสืบต่อไป
-  ประเพณีการสืบชาตา ทำได้ทุกเดือน
การสืบชาตานี้หมายถึง การต่ออายุ ให้ยืดยาวยืนนานออกไป และเพื่อเป็นสิ่งสิริมงคลมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ปราศจากโรคาพยาธิเภทภัยทั้งหลายให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป การสืบชะตานี้จะไม่ใช่แก่นแท้ในทางพระพุทธศาสนาก็ตาม ว่ากันว่าเป็นลัทธิพราหมณ์อยู่บ้างแต่ก็ได้สาระประโยชน์ในด้านจิตใจอย่างไม่น่าเชื่อ ดังปรากกอยู่ตำนานคัมภีร์สืบชะตาได้กล่าวว่าสมัยพุทธกาลมีสามเณรน้อยองค์หนึ่งซึ่งชื่อติสสะ อายุ 7 ปี บวชและปฏิบัติธรรมอยู่ในสำนักพระสารีบุตรเถระ อยู่มาวันหนึ่งพระสารีบุตรเถระได้สังเกตเห็นสามเณรน้อยติสสะมีผิวพรรณวรรณและสีหน้าหม่นหมองหงอยเหงาโศกเศร้า ดังนั้นพระสาลีบุตรเถระจึงได้เข้าญาณสมาบัติเลยก็รู้ว่าสามเณรน้อยติสสะผู้นี้จะมีอายุได้เพียง 7 วันเท่านั้นก็จะถึงแก่มรณภาพ ดังนั้นพระสารีบุตรเถระจึงได้บอกให้สามเณรติสสะได้รับทราบเมื่อสามเณรติสสะได้รับทราบว่าตนเองจะถึงแก่มรณภาพใน 7 วัน สามเณรก็มีความทุกข์ใจมีใบหน้าหม่นหมอง และเต็มไปด้วยน้ำตา สามเณรจึงกราบลาพระสารีบุตรเถระเพื่อจะไปบอกกล่าวและลาพ่อแม่ของตนก่อนที่จะมรณภาพ เมื่อสามเณรน้อยติสสะได้ลาพระสาลีบุตรแล้วก็ออกเดินทางมุ่งหน้ากลับบ้านทันที ในขณะที่เดินทางไปนั้นมองเห็นด้วย หนอง คลอง บึง น้ำ กำลังแห้งขอด ตื้นเขิน ปลาน้อยใหญ่ที่อยู่อาศัยในน้ำนั้นก็ต่างพากันกระเสือกกระสนหาน้ำเพื่อหนีจากความตาย ในขณะนั้นสามเณรน้อยติสสะได้เห็นดังนั่นก็ได้รำพึงในใจว่า อันตัวเรานี้ก็จะมรณภาพภายใน 7 วัน เช่นเดียวกับปลาทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าไม่มีน้ำฉะนั้นก่อนที่เราจะมรณภาพเราขอได้โปรดสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ได้รอดพ้นจากความตายดีกว่า เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้วก็ได้เอาปลาน้อยใหญ่ทั้งหลายใส่ในบาตรของตนแล้วนำไปปล่อยที่แม่น้ำใหญ่ให้พ้นจากความตายให้มีอายุยืนยาวนานต่อไป เมื่อสามเณรน้อยติสสะเดินทางมาถึงบ้านแล้วก็ได้เล่าเรื่องที่ตนจะถึงแก่มรณภาพอีก 7 วันให้พ่อแม่และญาติพี่น้อง ในเมื่อเขาเหล่านั้นได้ทราบเรื่องราวแล้ว ต่างคนก็มีความเศร้าโศกเสียใจ ต่างก็สงสารสามเณรน้อยผู้นั้นเป็นยิ่งนัก แล้วเขาทุกคนก็รอคอยวันที่สามเณรน้อยติสสะจะมรณภาพโดยความโศกเศร้าเสียใจ และเมื่อถึงวันเวลากำหนดมาถึงสามเณรน้อยติสสะก็ยังไม่เป็นอะไรคือยังไม่มรณะภาพเลย แล้วสามเณรน้อยติสสะกลับมีผิวพรรณผุดผ่องใสงามยิ่งกว่าเก่า และสามเณรติสสะก็ได้เดินทางกลับไปหาพระสารีบุตรแล้วได้เล่าเรื่องต่าง ๆ กราบนมัสการที่ตนได้ไปปล่อยปลาทั้งหลายนั้นให้พระสารีบุตรฟังจนทุกประการ พระสารีบุตรจึงกล่าวว่าการกระทำของสามเณรน้อยติสสะนี้ หากเป็นกุศลกรรมที่ยังให้เห็นเป็นพลังให้พ้นจากหายนะ คือความเสื่อมความตายและยังมีชีวิตยิ่งยืนนานอีกต่อไป ดังนี้จากตำนานเรื่องนี้เองจึงทำให้ศรัทธาสาธุชนเมืองเหนือเราเกิดความเชื่อถือได้ มีการกระทำพิธีสืบชะตาเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้   การสืบชะตานี้นั้นทำให้คนเรามีขวัญและดำลังใจดีขึ้นและการสืบชะตานี้เราจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ด้วยกันคือ
1. การสืบชะตาบ้านจะทำได้ก็ปีละครั้งหรือว่า ถ้ามีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นก็ทำได้
2. การสืบชะตาเมืองจะทำก็ต่อเมื่อได้ครบรอบสร้างเมืองหรือในเมื่อที่กำหนดให้วันมงคลของบ้านเมือง
3. สืบชะตาคนทำได้ตลอดทุกโอกาส
การสืบชะตาคนนั้นเป็นประเพณีอันเป็นมงคลที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่นิยมกันสืบต่อกันมาเท่าทุกวันนี้ เช่นเนื่องในวันครบรอบอายุ หรือวันคล้ายวันเกิดขึ้นบ้านใหม่ ได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์ ได้รับโชคลาภหรือย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่บางครั้งก็ถูกทำนายทายทัก ชะตาขาดทำอะไรไม่ค่อยเจริญมีอันเป็นไปต่าง ๆ นา ๆ สืบชะตาแล้วจะดีขึ้นบางทีเจ็บออด ๆ แอด ๆ 3 วันดี 4 วันไข้ กินยาอะไรก็ไม่หายก็นิยมสืบชะตาต่ออายุจะทำให้อยู่สุขสบายขึ้น ตามแห่งโบราณลานนาเราเคยทำเป็นตัวอย่างกันมานานแล้ว (เป็นแล้ว)
-  ประเพณีการเวนทาน
ประเพณีนี้ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่ผู้รู้ทั่วไปให้ความยกย่องว่าดียิ่ง ประเพณีแบบนี้ไม่มีในภาคอื่นของประเทศไทย นับว่าเป็นความดีพิเศษของนักปราชญ์โบราณล้านนาไทย ที่ได้คิดว่างระเบียบแบบแผนเวนทานไว้ ส่งให้ทราบถึงความละเอียดอ่อนแห่งดวงใจที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จึงเป็นหน้าที่แห่งเราต้องรักษาส่งเสริมให้มั่นคงยืนยาว สืบลูกหลานต่อไปในอนาคต การจะส่งเสริมรักษาประเพณีการเวนทานนี้ เราต้องเข้าใจความหมายและประโยชน์ของการเวนทานพอสมควร เมื่อเราเห็นความสำคัญของการเวนทานแล้ว เราจึงจะเกิดความรักความหวงแหนและรักษาไว้ ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะกล่าวถึงการเวนทานเรื่องอื่น ๆ จะพูดถึงประโยชน์ของการเวนทานก่อน  ประโยชน์ของการเวนทาน  คือ
1. เป็นโอกาสให้ อาจารย์ชาวบ้านได้อบรมสั่งสอนศรัทธาแทนพระ
2. เป็นการประโลมโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้เกิดศรัทธาปสาทะมีปิติอิ่มเอมในกุศลทานที่ได้ประกอบและเป็นการตัดกังวลมลทินออกจากใจเจ้าภาพ
3. เป็นการฝึกหัดให้คนฟังเกิดความอดทน คือทนอดที่จะฟังเวนทานให้จบ เป็นการให้เกิดสมาธิ
4. ทำให้ผู้มาร่วมอนุโมทนาทราบชัดถึงการถวายทานและวัตถุประสงค์ เกิดอารมณ์ร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเจ้าภาพ
5. ผู้ฟังย่อมได้ทราบสาระคำสอนที่แฝงอยู่ในวันทานนั้น ๆ นำไปเป็นข้อเตือนใจได้
บุคคลผู้สมควรจะเป็นอาจารย์เวนทาน  ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1. ควรเป็นหนาน คือผู้ที่เคยอุปสมบทมาแล้ว เพราะผู้ที่เคยอุปสมบทมาแล้วย่อมจะทราบระเบียบวินัยและจิตใจของพระสงฆ์ ย่อมปฏิบัติสอดคล้องต้องกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระสงฆ์ ผู้ที่ยังไม่เคยบวชเป็นพระมาก่อนถ้าประสงค์จะเป็นอาจารย์เวนทาน คนโบราณย่อมให้เขาบวชเป็นพระเสียก่อน อย่างน้อยก็ 1 พรรษาในบางโอกาสเมื่อมีงานใหญ่ ไม่อาจจะหาอาจารย์เวนทานให้เหมาะสมแก่งานได้ เขาก็จะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ผู้ฉลาดสามารถในการเวนทาน ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ก็มี
2. เป็นการเหมาะสมโดยแท้ที่อาจารย์ผู้ทำหน้าที่เวนทาน ควรเป็นผู้มีศีล 5 อยู่กับตัวเป็นนิจ แม้ที่สุดไม่อาจจะรักษาศีลให้ครบทั้ง 5 ข้อได้ การรักษาศีลข้อที่ 5 ให้ได้ คือ ไม่เป็นคนดื่มสุราเมรัย เพราะผู้นำทานควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ตาม อีกประการหนึ่งก็เป็นบุญเป็นอานิสงฆ์แก่ผู้เป็นอาจารย์ด้วย
3. เป็นผู้มีระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ทั้งในแบบโบราณลานนาไทยและแบบสมัยปัจจุบันพอเป็นหลักเป็นแนวในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ให้รู้จักสังเกตเมื่อไปในงานพิธีทั้งหลายถ้าเกิดสงสัยให้ถามท่านผู้รู้เพื่อจะนำมาประยุกต์ในการนำทำพิธีภายในหมู่บ้านของเรา อนึ่งอาจารย์ย่อมเป็นที่ปรึกษาของชาวบ้านในเรื่องต่าง ๆแม้กระทั่งการหามื้อหาวันเป็นต้น
4. อาจารย์พึงเป็นผู้มีมารยาทอ่อนน้อม เคารพยำเกรงในพระภิกษุสามเณร รู้จักวางตัวให้ถูกฐานะ รู้จักสิ่งที่ควรและไม่ควร ไม่พึงตั้งตัวเป็นผู้มีอำนาจเข้าควบคุมกิจการภายในของวัด
5. เป็นผู้อยู่ท่ามกลางระหว่างพระกับศรัทธาชาวบ้าน เรื่องใดที่พระพูดกับศรัทธาโดยตรงไม่ได้ ย่อมเป็นหน้าที่ของอาจารย์จะพูดแทนเรื่องใดที่ศรัทธาชาวบ้านเกิดแคลงใจไม่อาจจะพูดจะถามโดยตรงกับพระได้ ก็เป็นหน้าที่ของอาจารย์จะพูดแทนศรัทธา ทั้งนี้ให้ยึดความสามัคคีเป็นหลัก
6. เป็นผู้รู้จักกาลเทศะในการเวนทานคือรู้จักเวลาและสถานที่ ว่าเวลานี้ สถานที่นี้ควรจะเวนสั้นหรือแววยาว ควรใช้สติปัญญาพิจารณาดู หรือควรถามความต้องการของพระสงฆ์ที่เป็นประธานในพิธี
7. เป็นผู้ไม่มีมานะกระด้างถือตัวไม่รู้จักยอมคน เพราะอาจารย์เป็นตัวแทนของธรรมะพึงเป็นผู้บันเทา โลภะ โทสะ โมหะ ให้ลดน้อยถอยลง ถือเหตุถือผลความถูกต้องเป็นหลัก ถ้ามีงานเกิดขึ้นในหมู่บ้านเช่น งานศพ แม้เจ้าภาพเขาไม่บอกกล่าวด้วยเหตุใดก็ตาม อาจารย์ก็ควรไปตามหน้าที่โดยเป็นศรัทธาก็ได้
8. เป็นผู้แสวงหาความรู้เสมอ ชอบฟังชอบถามในเรื่องที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาปฏิบัติปรับปรุงตัวเองให้เจริญขึ้น ตามที่กล่าวมาทั้ง 8 ข้อนี้ ความจริงอาจจะยังไม่หมด เท่าที่คิดได้พอเป็นหลักดูดเหมือนจะมีเท่านี้ หากอาจารย์ใดมีคุณสมบัติดังกล่าวมาสัก 2-3 ข้อ ก็นับว่าเป็นอาจารย์ที่ดียิ่งแล้ว แต่ถ้าได้ครบหมดยิ่งเป็นการดี
ระเบียบปฏิบัติก่อนจะทำบุญถวายทาน
เบื้องแรกของการเป็นอาจารย์ อาจารย์ฟังรู้จักระเบียบศาสนาพิธีดี พอที่จะนำไปปฏิบัติได้ และต้องรู้ระเบียบพิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเดา ๆทำด้วยคิดว่า ท่าจะดีในที่นี้จะกล่าวถึงศาสนพิธีที่เราปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป เรียกว่าเป็นหลักใหญ่ของพิธีทางศาสนาทั้งหลายพอสังเขป  เมื่อมีงานทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นงานศพหรืองานมงคลก็ตาม อาจารย์วัดย่อมมีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าภาพ ในด้านพิธีการทั้งหลาย เพราะส่วนมากชาวบ้านไม่ค่อยรู้ หรือถ้ารู้ก็รู้ผิด ๆเพราะว่าไม่ใช่หน้าที่เขาโดยตรง อาจารย์ต้องไปแนะนำหรือดำเนินการแทนเจ้าภาพ เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปอย่างถูกต้อง เป็นหน้าที่ของอาจารย์จะต้องเอาใจใส่  คือ
•  การจัดสถานที่
ถ้าจัดงานที่บ้าน ให้จัดห้องโถงที่กว้างขวางของเรือนเป็นที่ทำพิธี เมื่อจะใช้ม่านกั้นด้านหลังพระพุทธรูป ไม่ควรให้ปิดหน้าต่างในเมื่อเป็นฤดูร้อน เพราะทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี ผู้เข้าอยู่ในพิธีหรือพระที่มาทำพิธีจะหงุดหงิดเพราะความร้อน ถ้าห้องโถงไม่มี หรือมีแต่แคบไม่พอทำพิธีได้ ควรจัดทำพิธีข้างล่างทางด้านหน้าเรือนโดยทำปรำผามเพียงหรือกางเต็นท์ให้สูง ใช้แท่นสังฆ์หรือเตียงเป็นอาสน์สงฆ์ ควรนิมนต์พระให้พอดีกับสถานที่
•  การตั้งโต๊ะหมู่บูชา
ถ้าห้องโถงกว้างขวาง ให้ตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ด้านขวามือของพระสงฆ์ ถ้าห้องโถงไม่กว้างยาวพอจะจัดแบบที่กล่าวได้ ให้ตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ตรงกลางชิดฝาผนัง เหมือนพระพุทธรูปที่ตั้งไว้ในวิหาร ให้พระสงฆ์นั่งออกมาทั้ง 2 ด้าน  ส่วนการจัดโต๊ะหมู่บูชานั้น ก็พึงทำให้ละเอียดประณีต ตามธรรมดาโต๊ะหมู่บูชานั้นมีหมู่ 5 หมู่ 7 หมู่ 9 ส่วนมากที่เรานำมาตั้งที่บ้านนั้นจะเป็นหมู่ 5 หรือบางที่ก็เพียง 3 ตัวก็มี จะเป็นโต๊ะหมู่ชนิดใดก็ตาม เราย่อมตั้งพระพุทธรูปไว้โต๊ะที่สูงที่สุดตรงกลางโต๊ะ 2 ข้างพระพุทธรูปซึ่งต่ำลงมาให้วางแจกันดอกไม้ ดอกไม้ที่จะปักแจกันควรเป็นดอกไม้สด เพื่อจะนำจิตใจให้แช่มชื่น ไม่ควรใช้ดอกไม้แห้ง และควรระวังอย่าให้ดอกไม้คลุมพระพุทธรูป โต๊ะที่ต่ำลงมาด้านหน้าพระพุทธรูป ให้วางกระถางธูปและเชิงเทียนตามลำดับ ควรขัดชำระให้สะอาดอย่าปล่อยให้สกปรกเทียนควรใช้เทียนสีผึ้ง 2 เล่ม ธูป 3 ดอกไม่ควรเอาอะไรนอกจากที่กล่าวมา วางบนโต๊ะหมู่บูชาหรือวางภายใต้โต๊ะหมู่บูชาเป็นอันขาด เพราะเป็นการไม่เหมาะขาดคารวะ ผู้รู้ท่านถือว่าโต๊ะหมู่บูชาเป็นหัวใจของงานไม่ใช้ของเล่น ๆ เราเห็นโต๊ะหมู่บูชาก็ย่อมรู้ว่า เจ้าภาพมีความลึกซึ้งในพระรัตนตรัยแค่ไหน พระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เราควรทำอย่างประณีตเต็มด้วยความคารวะที่สุด
•  การล้วงด้ายสายสิญจน์
ควรล้วงจากฐานพระพุทธรูปเวียนออกไปทางขวาตามคตินิยม ไม่ควรเอาด้ายสายสิญจน์คล้องคอพระพุทธรูปหรือผูกที่ใดก็ตาม ที่เรามองดูแล้วเป็นการขาดความเคารพ เมื่อเอาด้ายสายสิญจน์ล้วงที่ฐานะพระพุทธรูปดแล้ว ให้ล้วงเวียนขวาอ้อมเรือนหรือมณฑลพิธี จนวกกลับมาบรรจบกับเงื่อนเดิมที่ฐานพระพุทธรูป อีกเงื่อนหนึ่งที่เหลือม้วนเป็นกลุ่มให้เหลือยาวพอที่พระสงฆ์จะถือได้ครบทุกองค์ แล้วเอาล้วงรอบบาตรน้ำมนต์ 3 รอบ วางกลุ่มด้ายสายสิญจน์นั้นไว้บนพานอีกใบหนึ่ง ไม่ใช่ขันศีล ส่วนบาตรน้ำมนต์นั้นให้ปักเทียนน้ำมนต์ไว้ และหญ้าคนหนึ่งกำมือมัดให้เรียบร้อย เพื่อให้พระสงฆ์ใช้ชัดประพรมน้ำมนต์
•  การจัดอาสนะสงฆ์
เราจัดวางโต๊ะหมู่บูชาไว้แล้ว จากนั้นก็ปูลาดอาสน์สงฆ์ ถ้าปูเสื่อและคนทั่วไปก็นั่งเสื่อให้ปูพรมหรือผ้าก็ได้ทับบนเสื่ออีกชั้นหนึ่ง ถ้าปูพรมและคนทั่วไปก็นั่งบนพรมนั้นให้มีผ้าอื่นปูทับอีกชั้นหนึ่ง ไม่ควรให้พระสงฆ์นั่งบนเสื่อหรือพรมร่วมกับทายกทาริกา จัดระยะที่นั่งให้ห่างกันพอที่จะขยับเขยื้อนได้สะดวก ไม่ควรจัดที่นั่งชิดกันเกินไป เป็นการทรมานพระสงฆ์ซึ่งต้องนั่งทำพิธีอยู่นาน และให้มีหมอพิงหลังองค์ละใบ ส่วนคนโท ( น้ำต้น ) กระโถนนั้น ไม่ควรเอาวางจนครอบพระทุกองค์ เพราะรู้สึกเกะกะทำให้ที่คับแคบควรจะตั้งคนโท 1 ใบต่อพระ 2 รูป กระโถนก็เหมือนกัน ส่วนหมากพลูเหมี้ยงบุหรี่ควรถวายให้ครบทุกรูป
ก่อนทำพิธีเวนทาน
เมื่อพระมาถึงแล้ว ท่านจะนั่งตามอายุพรรษาของท่าน เจ้าภาพก็ประเคนหมากพลู บุหรี่ หรือน้ำในตอนนี้สำหรับพระเมื่อรับประเคนหมากพลูบุหรี่แล้ว จะวางไว้ตรงหน้าหรือจะเอาใส่ย่ามเลยก็ได้ เมื่อถึงเวลาทำพิธี ให้เชิญเจ้าภาพรวมทั้งลูกเมียมานั่งตรงหน้าพระสงฆ์ เว้นแต่บางคนอาจมีธุระเจ้าภาพเขาจะบอกให้ทราบ เมื่อเจ้าภาพมาครบแล้ว อาจารย์พึงประกาศบอก ศรัทธาทั้งหลายให้ทราบว่า ‘' บัดนี้ถึงเวลาที่จะทำพิธีถวายทานแล้ว เบื้องแรกนี้จะได้เชิญ ……. เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ในระหว่างที่เจ้าภาพกำลังจุดธูปเทียนอยู่นี้ ขอเชิญท่านทั้งหลายประนมมือ '' แล้วเชิญเจ้าภาพจุดธูปเทียน การจุดธูปเทียนนั้น ตามที่นิยมกัน ท่านให้จุดเทียนเล่มซ้ายมือของเราก่อน แล้วจึงจุดเล่มขวามือของเราแล้วจึงมาจุดธูปทีหลัง เมื่อเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว อาจารย์พึงกล่าวนำไหว้พระและสมาทานเบญจศีล การไหว้พระนั้นจะให้อาจารย์ว่านำแล้วศรัทธาว่าตามก็ได้ หรือจะว่าพร้อมกันทุกคนก็ได้ ทั้งนี้ขอให้เป็นไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยและคารวะยิ่ง เมื่อไหว้พระเสร็จแล้ว ใครคนใดคนหนึ่งที่อยู่ใกล้พึงประเคนขันศีล แล้วกล่าวคำสมาทานเบญจศีลโดยว่าพร้อมกัน  เมื่อพระให้ศีลจบแล้ว ถ้าในพิธีนั้นมีการเจริญพระพุทธมนต์แบบพื้นเมือง ให้อาจารย์ขึ้น สัคเค ฯลฯ แล้วพระสงฆ์ก็เริ่มสวดตามแบบลานนาไทย ถ้าจะเจริญพระพุทธมนต์ตามแบบภาคกลาง ให้อาจารย์กล่าวคำอาราธนาพระปริตร คือ วิปตติ ปฏิพาหาย ฯลฯ พระสงฆ์  ถ้าพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ไปถึง ราชโต วา โจรโต วา ฯลฯ ให้เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ ถ้าพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ตามแบบภาคกลางไปถึง อเสวนา จ พาลานํ ฯลฯให้เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ เมื่อจุดเทียนน้ำมนต์เสร็จแล้วให้ยกประเคนพระผู้เป็นประธานในพิธีนั้นแล้วกลับมานั่งประนมมือฟังสวดมนต์ ถ้าเป็นงานศพ  ให้เพิ่มการตั้งศพไว้ในที่เหมาะสม ตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ตรงกันข้ามกับหัวศพ ห่างประมาณ 1 วา หรือดูให้พอเหมาะ จุดไฟยามไว้ที่ใกล้กระถางธูป เพื่อให้คนที่มาเคารพศพจุดธูปจากไฟยามอันนั้น ผู้ที่ไปบ้านศพ เมื่อขึ้นห้องที่ไหว้ศพแล้วพึงกราบพระก่อน แล้วจึงมาจุดธูป 1 ดอกไหว้เคารพศพ แล้วให้ปักธูปลงในกระถางธูปโดยให้ปลายธูปโน้มไปข้างหน้า เราไหว้สิ่งใดพึงปักปลายธูปโน้มเข้าหาสิ่งนั้น ไม่ควรปักธูประเกะระกะหาระเบียบมิได้ เพราะระเบียบพิธีในพระพุทธศาสนานั้น ต้องการความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยสายโยงศพ อนึ่งด้ายที่ผูกกับตาปูด้านหัวศพนั้นไม่ใช่ด้ายสายสิญจน์เป็นด้ายโยงใช้แทนร่างของศพ เมื่อเวลาพระบังสกุล ไม่อาจจะบังสุกุลที่ศพได้ด้วยเหตุใดก็ตาม ท่านให้โยงด้ายเส้นนั้นโรยผ่านหน้าพระสงฆ์ แล้วเอาผ้าบังสุกุลวางพาดบนด้ายเส้นนั้น พระก็ชักบังสุกุลที่ด้านเส้นนั้น เมื่อเสร็จแล้วให้ม้วนใส่พานเก็บไว้ในพานวางไว้ที่ใกล้ศพ ไม่พึงเอาให้พระใส่มือประนมสวดเหมือนด้ายสายสิญจน์ และไม่ควรข้ามเหยียบด้าย เวนทาน เมื่อพระสวดหรือเทศน์จบแล้ว ก็ถึงวาระของอาจารย์จะทำหน้าที่เวนทาน การเวนทานไม่ว่าจะเวนในงานศพหรืองานมงคลก็ตาม มีวิธีดำเนินการเหมือนกัน คือ
•  สมาหรือสูมาครัวทาน •  อัญเชิญเทวดา                       
•  ยอคุณพระรัตนตรัย     •  เนื้อเรื่องดเวนทาน      
•  กล่าวคำถวายทาน       •  แผ่บุญ
•  สมาพระรัตนตรัย
ในการสม ครัวทานนั้น ให้มีพานดอกไม้และมีขันใส่น้ำส้มป่อยวางบนพานนั้นขณะที่อาจารย์กล่าวคำสมาครัวทานนั้น ให้ใครคนใดคนหนึ่งยกพานนั้นขึ้นเสมอหน้าผาก เมื่ออาจารย์ว่าคำสมาครัวทานจบแล้ว ให้เอาน้ำส้มป่อยนั้นประพรมไปตามไทยธรรมทั้งหมดเพื่อให้ของทานบริสุทธิ์ปราศจากมลทินโทษ สมกับคำที่ท่านกล่าวว่า ทายบริสุทธิ์คือมีศีลของทานบริสุทธิ์ปราศจากมนทินทั้งปวง และ ปฏิคาหกบริสุทธิ์ด้วยศีล ความบริสุทธิ์ทั้ง 3 ประการพร้อมแล้วทานนั้นย่อมเกิดผลเกิดอานิสงส์มาก
 แหล่งการเรียนรู้หอเจ้าหลวง
ด้าน ขนบธรรมเนียม  ประเพณี  ความเชื่อ วัฒนธรรม พื้นบ้าน
ข้อมูลพื้นฐาน 
            หอเจ้าหลวง   หมู่  5  ตำบลป่าแลวหลวง  อำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน  55210
สถานที่ตั้ง
 บ้านสบยาง    หมู่  5   ตำบลป่าแลวหลวง  อำเภอสันติสุข  จังหวัดน่าน  55210
วัน เวลา ที่ให้บริการ
                        เปิดทำพิธี ในวันพญาวัน (15 เมษายน
ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม / รับบริการ
ค่าใช้จ่ายตามจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบเป็นกองทุนเพื่อปรับปรุงหอเจ้าหลวง
ผู้รับผิดชอบ    นายตา   เสนนันตา    ตัวแทนร่างทรง(ข้าวจ้ำ)
ประวัติความเป็นมา
หอเจ้าหลวง ที่ให้ความคุ้มคลอง ดูแลรักษาหมู่บ้าน จำนวน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย  บ้านสบยาง   หมู่ที่ 5 บ้านดอนชัย หมู่  6, บ้านน่านมั่นคง หมู่  และบ้านพนาไพร หมู่ 10  มีเจ้าหลวงคอยดูแลคุ้มคลองภัยอันตรายต่าง ๆ อยู่ จำนวน  พระองค์ คือ   1. เจ้าหลวงภูคา,  2. เจ้าหลวงอาชญา,  3.เจ้าภาพใจดำ,
4.เจ้านางเกี๋ยงคำ และ 5. เจ้าหลวงพญาอู   
     -  ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ปู่ ย่า ตายาย ผู้เฒ่า ผู้แก่ ท่านเล่าให้ฟังว่า เจ้าหลวง ทั้ง 5 พระองค์นี้ เคยนับถือกันว่าเป็นผีเจ้าบ้าน เจ้าเมือง เคยมาเข้าสิงห์บุคคลในหมู่บ้าน แล้วพูดออกมาว่า เรานี้เป็นเจ้า พ่อมาจากถิ่นนั้น ถิ่นนี้ และเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์เก่งกล้าสามารถทุก ๆ ด้าน พอชาวบ้านรับทราบจึงพากันกราบไหว้ เข้าใกล้ชิด คอยพูดจา ชักถาม เรื่องราวต่าง ๆ บ้างก็ถวายตัวเป็นผู้รับใช้ โดยนำเอาขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน
ไปบนบานสารกล่าว แล้วชักถามทั้งหญิงและชาย เขาเรียกว่า   เข้าจ้ำ”  หรือผู้รับใช้  โดยมีชาวบ้านทั้ง หมู่บ้านเป็นบริวาร  คำถามที่จะถามเจ้าหลวงทั้งหลาย มักจะถามว่าท่านมามีกิจประสงค์อันใด ก็ขอเชิญท่านไขหน้า อ้าปากบอกกับพวกเราด้วย  แล้วเจ้าหลวงทั้งหลายจะบอกว่า ที่เรามานี้เพราะความเดือนร้อน แก่สูเจ้าทั้งหลายนั้นแหละ ที่เรามานี้เรามาด้วยกัน พระองค์ ต่างองค์ ต่างก็มีหน้าที่รับผิดชอบ องค์ละอย่าง เป็นประธานคอยควบคุมดูแลทั่วเมืองเหนือ  มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของประธานให้มาดูแลสิ่งเลวร้าย อันตรายทั้งปวง ที่จะเกิดขึ้นในบ้านเมือง และผู้คนตลอดถึงสัตว์เลี้ยง เจ้าองค์อื่น จะมาก้าวก่ายไม่ได้
มีหน้าที่ขับไล่สิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย  ที่จะมาก่อความไม่สงบสุขกับบ้านเมืองตลอดถึงผู้คนและสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย นอกจากนั้นยังมีหน้าที่ให้ความอนุเคราะห์บรรเทาความเดือนร้อนต่าง ๆ เช่น ปีใดฝนฟ้าไม่ตก   ตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง ชาวบ้านจะพากันเอาขันข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน มาบนบานสารกล่าว เพื่อขอน้ำฟ้าน้ำฝนจากเจ้าพ่อพญาอู ท่านก็จะบรรดารให้ฟ้าฝนตกลงมา  นอกจากนั้นยังมีการบนบานสารกล่าวต่าง ๆ ตามแต่ผู้คนจะนับถือ อาทิเช่น การเดินทางไปยังถิ่นแดนไกล หรือไปหางานทำ ไปเป็นทหารสู้ศึกศัตรูหมู่ร้าย ไปสอบเข้าทำงาน สอบเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ก็มักจะมีผู้คนเหล่านี้มาบนบานสารกล่าวขอให้เจ้าหลวงให้ความคุ้มคลองและช่วยเหลือให้พบปะกับความสำเร็จในสิ่งดังหวัง และให้อยู่รอดปลอดภัย มีความร่มเย็นเป็นสุขกันทั่วหน้า  เป็นอาจิณ ปัจจุบันนี้มีผู้คนนับถือกันมากทุก ๆ ปี จะมีการเลี้ยงเจ้าหลวง ก่อนวันปีใหม่เมือง (ปีใหม่สงกรานต์) เรียกว่าเลี้ยงป๋าง เสร็จแล้วจะมีพิธีการเจ้าหลวงเข้าสิงห์ร่างผู้ประทับร่างทรง ในวันพญาวัน (15 เมษายน
องค์ความรู้/สิ่งที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้ เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น  ประเพณี  ความเชื่อ  
1.การนับถือเจ้าที่ เจ้าหลวง หรือการเข้าประทับร่างทรงตลอดจนการบนบานสารกล่าว
2.ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน
ศาลเจ้าหลวง   (หอเจ้าหลวง) ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านสบยาง ตำบลป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
พิธีบวงสรวงหรือเลี้ยงปางประจำปี  ประกอบด้วย พาน 4 ใบ ในแต่ละใบจะมีสิ่งของต่าง ๆ เช่น หมาก
1 หัว พู 1 มัด เทียน 12 คู่ ดอกไม้ขาว ผ้าขาว ผ้าแดง น้ำดื่ม น้ำส้มป่อย จำนวน 4 ชุด  ไก่ต้มสุก 4 ตัว
หัวหมู 1 หัว แข่งหมู 4 แข่ง หางหมู 1 หาง เครื่องในหมู ที่ต้มสุกแล้ว จำนวน 1 ชุด สุราขาว 4 ขวด
พิธีอัญเชิญเจ้าหลวงลงมาประทับร่างทรง  อุปกรณ์ที่จะใช้ประกอบด้วย  พาน 4 ใบ ในแต่ละใบจะมีสิ่งของ
ต่าง ๆ เช่น หมาก 1 หัว พู 1 มัด เทียน 12 คู่ ดอกไม้ขาว ผ้าขาว ผ้าแดง น้ำดื่ม น้ำส้มป่อย  สุราขาว  นอกจากนั้นจะมีคนเฒ่าคนแก่ เข้าจ้ำ (คนรับใช้ช่างซอ ช่างปิน (ช่างซึง) ช่างสะล้อ ช่าง ขลุ่ย  มีการฟ้อนรำ ท่าทางต่าง ๆ อบรมสมโภช ร่ำไร เพื่อขอเชิญท่านลงมาประทับร่างทรงทีละองค์ ๆ ขณะเดียวกันก็จะมีการจุดธูปเทียน บูชาไปพร้อม ๆ กัน ผู้ทำหน้าที่เป็นเข้าจ้ำก็จะพล่ำวอนเจ้าหลวงทั้งหลายให้ลงมาประทับร่างทรง เพื่อขอพรบ้าง ขอฟ้าฝนบ้าง ขอให้คุ้มครองอันตรายต่าง ๆ บ้าง สอบถามถึงปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ควรจะปฏิบัติอย่างไรให้พ้นภัยต่าง ๆ แล้วท่านก็จะบอก ถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไข พวกชาวบ้านจึงได้นำไปปฏิบัติให้เกิดความผาสุขใน 4 หมู่บ้านต่อไป